10 เหตุผลที่ทำให้ ‘กาตาร์ 2022’ คือ ฟุตบอลโลกทัวร์นาเม้นท์แรกในประวัติศาสตร์ที่มีความยั่งยืนและเป็นกลางทางคาร์บอน

มหกรรมฟุตบอลโลกเป็นอีกหนึ่งเกมกีฬาที่มีการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง โดย สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ได้ออกรายงานในเดือนมิถุนายน 2021 ว่าตลอดทัวร์นาเม้นท์ของการแข่งขันฟุตบอลโลกจะมีการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 3.6 ล้านตัน ซึ่งปริมาณดังกล่าวสูงกว่าปริมาณคาร์บอนที่บางประเทศผลิตต่อปีด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุดังกล่าว มหกรรมฟุตบอลโลก 2022 ครั้งล่าสุด ที่จะจัดขึ้นในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่​ 20 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2565 ซึ่งพร้อมระเบิดความมันส์ให้แฟนบอลได้เชียร์และส่งกำลังใจให้ทีมฟุตบอลจากประเทศต่างๆ ที่เข้ารอบ ทางเจ้าภาพก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะสร้างสรรค์ให้การแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้เป็นทัวร์นาเม้นท์แรกในประวัติศาสตร์ที่ยั่งยืนและเป็นกลางทางคาร์บอน เราลองมาดูกันว่า เจ้าภาพได้เตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง

1. ทัวร์นาเม้นท์ที่กระชับ

Qatar 2022 จะเป็นทัวร์นาเม้นท์การแข่งขันฟุตบอลโลกที่กระชับที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ โดยสนามแข่งทั้ง 8 แห่ง ตั้งอยู่ไม่ห่างกันมาก โดยมีระยะห่างระหว่างสถานที่จัดงานเพียง 75 กิโลเมตร (สนามกีฬา Al Bayt ใน Al Khor ถึงสนามกีฬา Al Janoub ใน Al Wakrah) แฟน ๆ และนักฟุตบอลจะพักอยู่ในที่พักเดียวกัน และจะฝึกซ้อมในสถานที่เดียวกันตลอดการแข่งขัน

2. ไม่มีไฟลท์ภายในประเทศ

แฟนๆ นักฟุตบอล และเจ้าหน้าที่ จะไม่จำเป็นต้องขึ้นเครื่องบินภายในประเทศ เนื่องจากสถานที่ต่างๆ อย่างสนามแข่ง สนามฝึกซ้อม หรือสถานที่เที่ยวต่างๆ อยู่ไม่ห่างกันมาก ซึ่งต่างจากฟุตบอลโลกครั้งก่อน ที่แฟนๆ และนักฟุตบอลต้องขึ้นเครื่องบินไปยังจุดต่างๆ ระหว่างแมทช์การแข่งขัน

3. การรับรองระบบการประเมินความยั่งยืนระดับโลก (GSAS)

สถานที่จัดการแข่งขันทุกแห่งใน Qatar 2022 จะได้รับการรับรอง GSAS ซึ่งเป็นการรับรองด้านความยั่งยืนของสถานที่จัดการแข่งขันในหลากหลายด้าน เช่น ด้านการออกแบบ ด้านการก่อสร้าง ด้านการใช้พลังงานและน้ำ โดยสนามแข่งทุกแห่งได้รับการรับรองอย่างน้อยระดับ 4 ดาว แต่มี 2 แห่ง ที่ได้รับการรับรองระดับ 5 ดาว ได้แก่ Education City Stadium และ Al Bayt Stadium

4. สนามฟุตบอลโลกแห่งแรกที่ถอดประกอบได้

สนาม Ras Abu Aboud เป็นสนามต้นแบบนวัตกรรมสำหรับการจัดการแข่งขันรายการใหญ่ในอนาคต โดยสร้างขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์และที่นั่งแบบถอดได้ สนามความจุ 40,000 ที่นั่งแห่งนี้ เป็นสนามฟุตบอลโลกแห่งแรกในประวัติศาสตร์การแข่งขันที่ถอดประกอบได้ทั้งหมด ซึ่งจะถูกรื้อถอนและนำกลับมาใช้ใหม่หลังการแข่งขันสิ้นสุดลง โดยชิ้นส่วนต่างๆ จะถูกนำไปสร้างเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาในประเทศกาตาร์และในต่างประเทศ ทั้งนี้ ตู้คอนเทนเนอร์ที่นำมาสร้างเป็นสนามแข่งขันนั้น เดิมใช้สำหรับการขนส่งวัสดุก่อสร้างไปยังประเทศกาตาร์นั่นเอง

5. การรีไซเคิลในสนามแข่ง

เจ้าภาพได้กำหนดมาตรการให้ทุกสนามแข่งมีการคัดแยกและบริหารจัดการขยะในระหว่างการก่อสร้างสนามและระหว่างแมทช์การแข่งขัน และจะมีการติดตั้งระบบรีไซเคิลในสนามแข่งเพื่อช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์

6. การจัดหาที่ยั่งยืน

ทางเจ้าภาพร่วมกับ Supreme Committee for Delivery & Legacy ได้กำหนด Sustainable Sourcing Code หรือ ระเบียบการจัดหาที่ยั่งยืน โดยกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับซัพพลายเออร์และสปอนเซอร์ของการแข่งที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

7. ระบบขนส่งมวลชนไฟฟ้า

The Doha Metro หรือ รถไฟฟ้า จะเป็นระบบขนส่งหลักในการขนส่งแฟนๆ ที่มาชมการแข่งขันไปยังสนามแข่งต่างๆ ระบบรถไฟฟ้าดังกล่าวใช้ระบบกลไกการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ (regenerative braking systems) ซึ่งช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และสถานีต่าง ๆ ยังได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม และยังดำเนินการภายใต้การรับรองอาคารสีเขียว

แผนการขนส่งสีเขียวของกาตาร์ไม่ได้จำกัดเพียงระบบรถไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังขยายไปยังรถยนต์ไฟฟ้าและรถบัสไฟฟ้าด้วย โดยได้จับมือกับ KAHRAMAA ในการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตามจุดต่าง ๆ ในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีสกูตเตอร์ไฟฟ้าและจักรยานไฟฟ้าคอยให้บริการอีกด้วย 

8. ที่พักอาศัยที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

การส่งมอบบริการที่ยั่งยืนนับเป็นหัวใจหลักของทัวร์นาเม้นท์นี้ และส่วนประกอบสำคัญของประสบการณ์ของแฟน ๆ ตลอดการแข่งขันก็คงหนีไม่พ้นที่พักอาศัยนั่นเอง เจ้าภาพจึงได้จับมือกับ Qatar Green Building Council ในการส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมในภาคโรงแรมโดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของภาคโรงแรม และใช้ประโยชน์จากการดำเนินงานโรงแรมที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ

9. เพิ่มจำนวนต้นไม้ สร้างประเทศสีเขียว

การปลูกต้นไม้นับเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบและวางแผนสนามกีฬา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกสีเขียวของทัวร์นาเม้นท์นี้ โดยเจ้าภาพได้ปลูกพืชพันธุ์พื้นเมืองตามสนามแข่งต่าง ๆ และนับเป็นโอกาสของประเทศกาตาร์ในการส่งเสริมการสร้างพื้นที่สีเขียวที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

10. มีโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Al Kharsa’ah 

โรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Al Kharsa’ah นับเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่มีส่วนสำคัญในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยรวมของประเทศ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ห่างจากกรุงโดฮา 80 กิโลเมตร โดยโรงผลิตไฟฟ้าขนาด 800 MW แห่งนี้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่จำกัดการพึ่งพาก๊าซเพื่อการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย 

source

source

Stay Connected
Latest News