ปัจจุบันข่าวคราวเรื่องคนหาย เกิดขึ้นทุกวันในสังคมไทย จนทำให้หลายคนมองว่าเป็นแค่ข่าวชิ้นหนึ่ง หรืออาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว จึงไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการใส่ใจเพื่อแก้ไขอย่างจริงจัง
ทำให้ศูนย์ข้อมูลติดตามคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ต้องพยายามเพิ่มรูปแบบและช่องทางในการสื่อสาร เพื่อให้ทั้งดึงดูดความสนใจและสามารถเข้าถึงผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญหายได้มากที่สุดด้วย
ล่าสุด ศูนย์ข้อมูลติดตามคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ได้ร่วมมือกับ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ในการใช้ช่องทางหน้าจอ “ตู้บุญเติม” เพื่อเป็นช่องทางในการติดตามหาคนหาย โดย คุณเอกลักษณ์ หลุ่มชุมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ทางมูลนิธิจะคัดเลือกภาพคนหายส่งให้ผู้ดูแลระบบของตู้บุญเติม เพื่อนำมาสื่อสารผ่านหน้าจอตู้บุญเติมที่มีกว่า 1 แสนตู้ทั่วประเทศ เดือนละ 4 คน รวม 48 คน ตลอดทั้งปี ซึ่งการคัดเลือกจะเลือกทั้งเคสคนที่หายที่ไปนานมากแล้วแต่ยังหาไม่เจอ รวมทั้งเคสที่เพิ่งหายไม่นาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการติดตามตัวได้มากขึ้น
“ในแต่ละวันมีคนไปทำธุรกรรมผ่านตู้บุญเติมรวมมากกว่า 1 ล้านรายการ หรือในแต่ละตู้จะเพิ่มโอกาสให้คนได้เห็นประกาศคนหายเฉลี่ยตู้ละ 10 คน ประกอบกับกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ตู้บุญเติมจะเป็นกลุ่มชาวบ้านทั่วไป ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดบุคคลในครอบครัวสูญหายได้มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น นอกจากการช่วยสื่อสารเพื่อติดตามหาคนหายแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างความตระหนักในการเฝ้าระวังการสูญหายของบุคคลในครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย”
ขณะที่ปัญหาคนหายในสังคมไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางศูนย์ได้รับแจ้งการติดตามคนหายราว 120-150 รายต่อเดือน หรือมากกว่า 1,500 รายในแต่ละปี มีทั้งคนที่หายไปนาน 10-20 ปี แต่ทางศูนย์ก็ยังไม่หยุดตามหา หรือเคสใหม่ๆ ที่เพิ่งแจ้งเข้ามา ซึ่งทุกอย่างเป็นการทำงานกับเวลา และไม่สามารถทำได้แค่คนกลุ่มเล็กๆ แค่ครอบครัว หรือเจ้าหน้าที่เพียงกลุ่มเดียว แต่ทุกคนในสังคมต้องร่วมเป็นหูเป็นตา เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่มีโอกาสที่ทุกคนทุกครอบครัวจะพบเจอปัญหานี้ได้ทั้งสิ้น
โอกาสพบคนหายน้อย แต่ถ้าไม่หาก็ไม่มีวันพบ
คุณเอกลักษณ์ ยอมรับว่า โอกาสในการติดตามบุคคลสูญหายให้พบนั้น มีน้อยและเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าไม่ทำอะไร ไม่ติดตามก็ไม่มีทางพบ โอกาสก็คือศูนย์ ซึ่งในการติดตามนั้นทางศูนย์ฯ จะใช้ทุกวิถีทางในการติดตามไม่ว่าจะเป็นรูปแบบผ่านกระบวนการสื่อสารที่มีการสื่อสารในแต่ละช่องทางที่มีอย่างครอบคลุมในทุกวัน การใช้กระบวนการทางการสอบสวนสืบสวน การเข้าถึงฐานข้อมูลบุคคล รวมไปถึงการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์และระบุตัวตน เช่น การใช้ DNA ของพ่อแม่ไปเทียบกับศพนิรนามที่พบตามสถานที่ต่างๆ เป็นต้น
สำหรับกลุ่มคนที่พบปัญหาสูญหายในปัจจุบันมากที่สุด คือ กลุ่มคนสูงอายุ ต่างจากเมื่อ 10 กว่าปีก่อนหน้าที่ส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามโครงสร้างและบริบทของสังคม ที่อัตราการเกิดน้อยลงประกอบกับการขับเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับลักษณะทางกายภาพที่ถดถอยลงตามอายุ ทำให้มีปัญหาด้านสมอง หลงลืม ทำให้หายออกไปจากครอบครัวได้ นอกจากนี้ ยังมีบางกลุ่มที่ตั้งใจหนีออกจากบ้าน เพราะปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งพ่อแม่บางคนเองจำเป็นต้องมีความตระหนักในการดูแลลูกเพราะบางครั้งอาจเป็นสารตั้งต้นของสาเหตุที่ทำให้ลูกหลายหายออกไปจากบ้านเอง
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลติดตามคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ถือว่าเป็นองค์กรที่มีการใช้นวัตกรรมในการสื่อสาร เพื่อทำให้สังคมสนใจต่อปัญหาคนหายมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากความร่วมมือกับทางตู้บุญเติมในครั้งล่าสุดนี้แล้ว ในเดือนหน้าทางมูลนิธิกระจกเงา ยังมีแผนขยายการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ปัญหาไปยังแวดวงกีฬาเพิ่มเติม โดยร่วมมือกับทีมฟุตบอลในจังหวัดปทุมธานีสำหรับการสื่อสาร ด้วยการให้นักกีฬาฟุตบอลของทีม ถือภาพเด็กสูญหาย ซึ่งเป็นเคสในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ในระหว่างการเดินลงสนาม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่แปลกใหม่สำหรับประเทศไทย และเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้คนได้เพิ่มมากขึ้น
โดยก่อนหน้านี้เคสที่ค่อนข้างสร้างการรับรู้ในวงกว้างคือความร่วมมือกับน้ำดื่มสิงห์ ในการนำภาพคนหายไปติดไว้ที่ฉลากขวดน้ำดื่มสิงห์ จำนวน 20 ล้านขวด โดยเลือกขวดเล็กขนาด 600 มล. และ 750 มล. เพราะเป็นขนาดที่สามารถเข้าถึงคนในกลุ่ม Mass ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีช่องทางหลักทั้งโซเชียลมีเดียของมูลนิธิกระจกเงา ป้ายโฆษณาบิลบอร์ดกลางแจ้งต่างๆ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เคสคนหายผ่านรายการทีวี ช่องทางสื่อสารมวลชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้บุคคลมีชื่อเสียงมาช่วยกระจายการสื่อสารถึงปัญหาออกไปให้เป็นวงกว้างได้มากที่สุด