ธนาคารกสิกรไทย ย้ำภาพ Bank of Sustainability ประกาศยุทธศาสตร์ KBank ESG Strategy 2566 ตั้งเป้าหมายสร้างความยั่งยืนรอบด้านทั้งธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่ “ธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกำหนดกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการทำงานอย่างเป็นระบบ และสามารถวัดผลได้ โดยมีหลักการและมาตรฐานสากล เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะธนาคารแรกที่แสดงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจตามกรอบ ESG ที่ผสมผสานกลยุทธ์ให้เป็นเนื้อเดียวไปกับการทำธุรกิจ พร้อมวางเป้าหมายครบทุกมิติไว้อย่างชัดเจน รวมถึงแนวทางในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ได้แก่
มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)
ธนาคารฯ ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ (Net Zero) เป็นศูนย์ ในปี 2573 สำหรับ Scope 1 และ 2 ซึ่งอยู่ในกระบวนการทำงานของธนาคารเอง เช่น ทยอยเปลี่ยนรถยนต์เป็น EV ติดตั้ง Solar Roof บนอาคารสำนักงาน และสาขาที่ธนาคารเป็นเจ้าของพื้นที่ ส่วน Scope 3 ที่ต้องดูแลทั้งพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร ซึ่งได้วางเป้าหมายเป็น Net Zero ตามเป้าหมายของประเทศไทย
โดยในครึ่งแรกของปี 2565 สามารถลดเรือนกระจก (GHG) ได้แล้ว 13.52% (เทียบปีฐาน 2563) พร้อมการยกระดับเพื่อลด GHG ได้ท้ังพอร์ตสินเชื่อ ตามแผน Decarbonization Strategy ซึ่งจะนำร่องก่อนใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มเหมืองถ่านหิน ซึ่งสร้าง GHG ประมาณ 27% ของ GHG ทั้งหมดในพอร์ตของธนาคาร และในปีถัดไป จะเพิ่มการลด GHG ในอีก 2 อุตสาหกรรม เพื่อขยายสัดส่วนให้ได้ 40% ก่อนจะครบทั้งพอร์ตในลำดับต่อไป
สำหรับสิ่งที่ธนาคารจะทำเพื่อให้ Achieve เป้าหมายทั้งหมดนี้ ประกอบด้วย
– สนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing (Loan) and Investment) โดยปี 2565 อนุมัติไปแล้วกว่า 16,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมจัดสรรเงินทุนด้านความยั่งยืนรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่องไว้อีกกว่า 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อในกลุ่มนี้ยังมีสัดส่วนเพียง 1-2% ซึ่งหากในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้สามารถขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนได้อย่างแข็งแรงและต่อเนื่อง คาดว่า ปริมาณสินเชื่อจะเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ
– พัฒนาโซลูชั่นที่มากกว่าแค่บริการทางการเงิน (Beyond Financial Solutions) เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนได้ง่ายขึ้น และกระจายสู่วงกว้างได้ พร้อมเพิ่มศักยภาพในมิติของการดูแลสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นด้วย อาทิ โครงการ SolarPlus ติดตั้งโซลาร์รูฟให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งโครงการส่งเสริมการเช่าใช้งาน EV Bike ที่ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลายและช่วยให้ไรเดอร์กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยธนาคารจะเดินหน้าขยายโซลูชั่นเหล่านี้ไปสู่ลูกค้าในวงกว้างต่อเนื่อง
มิติด้านสังคม (Social)
ธนาคารเน้นการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงินและรวมถึงการให้ความรู้ทางการเงินและไซเบอร์ (Financial Inclusion and Financial/Cyber Literacy) เพื่อป้องกันภัยคุกคามต่างๆ ที่มาพร้อมเทคโนโลยี รวมถึงการปรับแนวทางการให้สินเชื่อ โดยใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาความเสี่ยง การประเมินความสามารถในการชำระเงิน และบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกค้าธนาคาร พร้อมเพิ่มขีดความสามารถของลูกค้าให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยวางเป้าหมายให้สินเชื่อสำหรับคนตัวเล็กไว้ 1.9 ล้านราย ภายในอีก 3 ปี จากปัจจุบันมียอดสินเชื่อกว่า 5 แสนราย รวมมูลค่าสินเชื่อ 2.3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ด้าน Financial and Cyber Literacy ให้ลูกค้าได้กว่า 10 ล้านราย ภายในปี 2566 พร้อมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพในการดูแลข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม
มิติด้านธรรมาภิบาลในธุรกิจ (Governance)
เป้าหมายสำคัญจะอยู่ที่การดูแลการให้สินเชื่อจากธนาคาร ต้องไม่ไปสร้างผลกระทบเชิงลบต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ทุกสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ทั้ง 100% ซึ่งในปี 2565 นี้ มีสินเชื่อที่ผ่านกระบวนการนี้กว่า 3.4 แสนล้านบาท
ความท้าทายสำคัญในการขับเคลื่อนตามกลยุทธ์ดังกล่าวคือ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมทั้งการมีผู้นำที่กล้าออกมาเริ่มและเปลี่ยนแปลง ประกอบกับแนวทางในการขับเคลื่อนช่วงเปลี่ยนผ่านอาจต้องมีทั้งมาตรการการจูงใจ หรือการกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนได้ทั้งระบบ รวมทั้งการทำความเข้าใจต่อผลตอบแทนที่ได้จากการขับเคลื่อนนโยบายด้าน ESG ที่ไม่ได้มีผลตอบแทนเพียงผลกำไรเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
“หากธุรกิจปรับตัวไม่ทันกับวิถีแห่งความยั่งยืน ก็อาจทําให้ต้นทุนในอนาคตสูงขึ้น ต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสินค้าและบริการสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งความเชื่อมั่นทั้งต่อลูกค้าและนักลงทุน ซึ่งความเชื่อมั่นถือเป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจต้องรักษาเอาไว้ แต่หากปรับตัวได้ทันก็จะสามารถคว้าโอกาสไว้ได้” คุณกฤษณ์ ให้เหตุผลเพิ่มเติม