การประชุมใหญ่ของภาคีต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ครั้งที่ 27 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ในเมืองชาร์ม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์
หนึ่งในบุคคลที่ถูกจับตาวว่าจะมาเข้าร่วม หรือจะเสนอประเด็นอะไรต่อเวทีโลกในครั้งนี้ คือ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศชาวสวีเดน วัย 19 ปี ที่เคลื่อนไหวเพื่อการปกป้องสภาพภูมิอากาศของโลกมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เวที COP ครั้งที่ 27 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ จะไม่ปรากฏชื่อของ เกรตา ธันเบิร์ก เข้าร่วมอย่างแน่นอน
โดยเกรตา ได้กออกมาประกาศในระหว่างการโปรโมตหนังสือ The Climate Book ว่าจะไม่ร่วมในเวทีครั้งนี้ พร้อมทั้งเปรียบเทียบเวที COP เป็นพื้นที่ของการฟอกเขียวหลากหลายประเภท ที่มีแต่ความหลอกลวง เป็นการฉกฉวยโอกาสเพื่อให้ได้รับความสนใจของผู้นำและผู้มีอำนาจทั้งหลาย แต่ไม่ได้มีความตั้งใจจริงที่ต้องการให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอย่างแท้จริง มีแค่เพียงโอกาสที่จะสามารถระดมพลเพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้นำ โดยเฉพาะหนึ่งในประเด็นที่ยอมรับให้ Coca Cola ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นแบรนด์ที่ใช้พลาสติกอันดับต้นๆ ของโลกเป็นสปอนเซอร์ เพื่อเป็นที่ในการฟอกขียว เพื่อชะล้างภาพลักษณ์ หรือ Greenwash อย่างสมบูรณ์
“เวที COP ในตอนนี้ มีแต่การโกหกและหลอกลวงของผู้มีอำนาจ เพื่อให้เป็นที่สนใจเมื่อพวกเขาพูดว่า ‘เรากำลังจะเปลี่ยน’ แต่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ เป็นเพียงการประวิงเวลา ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้อย่างเร่งด่วน และเป็นสาเหตุให้ COP ประสบกับความล้มเหลว ซึ่งตามรายงาน Emissions Gap ที่ทาง UNEP เผยแพร่มาเมื่อต้นสัปดาห์ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การรักษาเสถียรภาพของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5. องศาเซลเซียส ภายในปี 2573 นั้น มีเพียงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่ต้องทำอย่างกว้างขวาง และความร่วมมือร่วมใจอย่างจริงจังของทุกภาคส่วนในสังคมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตามที่ IPCC เคยระบุ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้จริง เราต้องการความร่วมมือจากทุกคน และต้องการนักเคลื่อนไหวหลายพันล้านคน”
ก่อนหน้าที่ COP27 ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม นักสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคม เมื่อรัฐบาลอียิปต์ได้เข้าจับกุมและมีการจำกัดห้ามการเคลื่อนไหวในที่สาธารณะ โดยธันเบิร์ก คือ 1 ใน 968 ในนามบุคคลและกลุ่มภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องการให้มีการเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นพร้อมทั้งปล่อยตัวผู้เรียกร้องให้เป็นอิสระ เช่น 350.org, Amnesty International และ Climate Action Network ซึ่ง เป็นเครือข่ายด้านสภาพอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งประกอบด้วยองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 1,500 องค์กร และองค์กรบางแห่ง รวมทั้ง Greenpeace UK ที่ถูกวิจารณ์ก่อนหน้านี้ว่าไม่ได้ลงนามในคำร้อง