กลุ่มบางจาก วางยุทธศาสตร์ 8 ปี เติบโต 10 เท่า แตะ 1 แสนล้าน ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ ‘รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว’ เพิ่มพอร์ตรายได้ 50% จากกลุ่มธุรกิจใหม่ พร้อมเปลี่ยนโลโก้ใหม่ ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ สะท้อนความมุ่งมั่นเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ภายใต้งบลงทุนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จนถึงปี 2030 กว่า 2 แสนล้านบาท
คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรก ของปีนี้ มีรายได้ (EBITDA ) สูงถึง 37,773 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่แข็งแรงกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด สะท้อนถึงความสามารถในกการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แม้จะมีการหยุดชะงักในช่วงสถานการณ์ 2-3 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งในปี 2020 บริษัทได้ทำการปรับกลยุทธ์องค์กรผ่านแนวคิด 3Rs ประกอบด้วย Refocus: เร่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กันกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด Restructure: การปรับองค์กรเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า และ Reimagine: การใช้โอกาสและเครื่องมือในการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท ส่งผลให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง และจะใช้มาตรฐานใหม่จากฐานที่แข็งแกร่งนี้สำหรับการขยายธุรกิจให้เติบโตไปข้างหน้า โดยสิ้นปีนี้คาดว่ารายได้จะเติบโตได้ถึง 45,000 ล้านบาท
สำหรับการเติบโตช่วง Post Covid บริษัทจะให้ความสำคัญในกลุ่มธุรกิจใหม่ และธุรกิจต้นน้ำ (Green + Gas) ให้มีสัดส่วนรายได้เทียบเท่ากับธุรกิจดั้งเดิมในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน (Oil) โดยวางยุทธศาสตร์การเติบโตในปี 2030 ให้เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด 10 เท่า เมื่อเทียบจากรายได้เฉลี่ยประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในระหว่างปี 2015-2020 โดยคาดว่าจะสร้างการเติบโตได้ราว 1 แสนล้านบาท ภายใต้งบลงทุนรวมตลอดทั้งแผน 2 แสนล้านบาท โดยในปีหน้าจะใช้อยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งการประกาศเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยจะสร้างให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2030 และขยับไปสู่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี 2050
“นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา กลุ่มบริษัทบางจากในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ได้ขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆ อย่างกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) นอกเหนือไปจากธุรกิจที่เป็นรากฐานสำคัญอย่างกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันและกลุ่มธุรกิจการตลาด และมีความเป็นบริษัทสากลจากการดำเนินธุรกิจในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก เปรียบเสมือนการเดินทางสู่บทใหม่ๆ ที่มีโอกาสแห่งการเติบโตมากมายรออยู่ ซึ่งสะท้อนว่าบริษัทเดินมาถูกทางจากความแข็งแกร่งและการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การขับเคลื่อนสู่พลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน มาตลอดเกือบ 40 ปี” คุณชัยวัฒน์ กล่าว
เปลี่ยนโลโก้ ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่
แนวทางดังกล่าว นำมาสู่การปรับอัตลักษณ์ใหม่ขององค์กร โดยการใช้สัญลักษณ์ ‘ใบไม้ใบใหม่’ ซึ่งได้เริ่มต้นใช้ทดแทนสัญลักษณ์รูปใบไม้เดิมอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ 23 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อสื่อความหมายถึงการขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานไปสู่อนาคตอย่างไม่สิ้นสุด และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว’ รวมทั้งพันธกิจ ที่ต้องการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยั่งยืน (Energy Transition) โดยคงไว้ซึ่งสมดุลแห่งความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยนวัตกรรมโซลูชั่นสีเขียว ดำเนินธุรกิจด้วยความคำนึงถึงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) อย่างมีความรับผิดชอบต่อทุกภาคส่วน
“สำหรับวิสัยทัศน์ใหม่ รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว’ หรือ Crafting a Sustainable World with Evolving Greenovation เพื่อสะท้อนและตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบางจากในฐานะผู้อยู่ในกลุ่มธุรกิจพลังงานที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนมาตลอด 38 ปี รวมทั้งการเริ่ม Upscale ผ่านการขยายการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อเป้าหมายด้านสภาพอากาศที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถมีพลังในการเปลี่ยนแปลงทั้งโลกได้ขนาดนั้น แต่เราสามารถออกแบบหรือรังสรรค์ให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้ในแบบของเรา ซึ่งในโลโก้ใบไม้ใบใหม่นี้ ได้สะท้อนถึงความไม่หยุดนิ่งและมีใบไม้มากกว่าหนึ่งใบมาจากหลากหลายการขับเคลื่อนนวัตกรรมของเราที่จะมีการพัฒนาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลานั่นเอง”
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์องค์กรใหม่ดังกล่าวนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและบริการทางธุรกิจใดๆ ของบริษัท อีกทั้งตราสัญลักษณ์ที่สถานีบริการบางจาก ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธุรกิจการตลาดและสมาชิกบัตรบางจากกรีนไมล์ จะยังคงเดิม ไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ จนกว่าจะมีการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลง
ทิศทางการขับเคลื่อนของทั้ง 5 หน่วยธุรกิจ
ขณะการการขับเคลื่อนแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้การสร้างความสมดุลทั้งในมิติของ Energy Security และ Energy Transition เพื่อสร้างความสมดุลในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน และเพิ่มโอกาสการเติบโตใหม่ๆ ให้องค์กร มีดังต่อไปนี้
กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน : เนื่องจากเป็นโรงกลั่นที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก จึงปรับตัวได้ไว และก่อนหน้านี้ก็มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความแข็งแกร่ง และรองรับการขยายโอกาสใหม่ๆ
- ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงที่เป็น extended core businesses เป็นกว่า 60% ภายในค.ศ. 2030
- มุ่งเน้นในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น Unconverted Oil และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF)
- เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตของธุรกิจหลัก
- BCP Trading เติบโตจนเป็นผู้ค้าน้ำมันอิสระอันดับ 1 ที่ตลาดสิงคโปร์
กลุ่มธุรกิจการตลาด : ตั้งเป้าเป็นจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์คนทุกวัยภายใต้แนวคิด “YOUR” Greenovative Destination for Intergeneration ผ่านการเติบโตจากธุรกิจ Non-Oil อย่าง อาหารและเครื่องดื่ม และ EV Charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
- ตั้งเป้าขยายเครือข่ายสถานีบริการบางจากเป็น 1,900 แห่ง และร้านกาแฟอินทนิล 3,000 แห่งทั่วประเทศ ในปี ค.ศ. 2030
- Unique Design Service Station เพื่อให้เป็นมากกว่าสถานที่เติมน้ำมัน โดยมุ่งมั่นเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค
- นำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงอย่างต่อเนื่อง
- สร้างการเติบโตธุรกิจ Non-Oil (ร่วมมือกับคู่ค้าและจากแฟรนไชส์)
- สร้างความผูกพันกับลูกค้าด้วยดิจิทัล
กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า : สัดส่วนหลักจากการเติบโตมาจากกลุ่มธุรกิจพลังงานสีเขียว ตามการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกสู่พลังงานสะอาด
- ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 6,800 GWh จากการเติบโตของธุรกิจพลังงานสีเขียว ทั้งจากโครงการในประเทศและต่างประเทศ
- ขยายธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต เช่น ธุรกิจแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงาน การให้บริการด้านเทคโนโลยีพลังงาน พลังงานรูปแบบใหม่และธุรกิจคาร์บอนต่ำอื่น ๆ
- ธุรกิจคาร์บอน เครดิต
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ : ธุรกิจหลักผ่านจุดต่ำสุดช่วงไตรมาส 2-3 ไปแล้ว แนวโน้มธุรกิจจะดีขึ้น จะต่อยอดธุรกิจชีวภาพมูลค่าสูง (HVP)
- เป้าหมายเพิ่มสัดส่วนธุรกิจหลักกว่า 70% ของ EBITDA ให้มาจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง
- รุกขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพและความงามของผู้บริโภค
- จะตั้งโรงงานพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (CDMO)
- ต่อยอดการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อเพลิงอากาศชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel -SAF)
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ : มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานผ่านการขยายธุรกิจในกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสร้างโอกาสเติบโตได้จากทั้ง Organic growth และ Inorganic growth ในอนาคต
- ตั้งเป้าหมายการผลิตมากกว่า 100,000 boepd (บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) ภายในปี ค.ศ. 2030 จากการดำเนินการแหล่งปิโตรเลียมในประเทศของนอร์เวย์ผ่านบริษัทฯ OKEA ASA และพิจารณาการเติบโตในธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งอื่นๆ ที่มีศักยภาพในอนาคต
- ตั้งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วน EBITDA กว่า 7,000 ล้านบาทภายในปีค.ศ. 2030
- Winnonie – Battery as a Service ต่อยอด หาพันธมิตรใหม่ๆ และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ขยายจำนวนรถจาก 1 พันคัน เป็น 5.5 พันคัน และเพิ่มสถานี Swop แบตจาก 100 แห่ง เป็นมากกว่า 300 แห่งในปีหน้า
- ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)
- ธุรกิจ New S-Curve ใหม่ๆ