แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศาสตร์พระราชา (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามพระราชดำรัสต่อไปนี้
“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ นักทฤษฎี และ นักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวตล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”
แก่นของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างให้เกิดความสมดุลทุกมิติทั้ง 3 ขา คือ Profit People และ Planet ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตหรือในการทำธุรกิจ ที่ต้องรู้จักการประมาณตน มีเหตุมีผล และการสร้างภูมิคุ้มกัน ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ การมีความรู้ และมีคุณธรรม ควบคู่กันไป
แนวคิดดังกล่าว ยังเป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการพอแล้วดี The Creator ซึ่งได้น้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาปรับใช้ร่วมกับ “แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เพื่อสร้างรากฐานการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจไทย ซึ่ง ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการพอแล้วดี The Creator ได้ขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง มาจนถึงรุ่นที่ 7 ในปีนี้แล้ว ด้วยความมุ่งมันที่จะพัฒนานักธุรกิจไทยภายใต้แนวคิด “ความพอดี” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างต้นแบบธุรกิจที่ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกันทั้งธุรกิจ ชมุชน และสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ
โดย ดร.ศิริกุล เคยเปรียบเทียบหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับแนวทางในการสร้างแบรนด์ให้เติบโตอย่างยั่งยืนที่ต้องมีวิธีคิดและแนวทางในการปฏิบัติเดียวกัน คือ
การรู้จักประมาณตน คือ การมีความเข้าใจในแบรนด์ รู้จักจุดแข็ง จุดอ่อน และศักยภาพของตัวเอง รู้ว่าตลาดไหน กลุ่มเป้าหมายไหนที่เหมาะกับแบรนด์ของตัวเอง เพื่อวางเป้าหมายในการพัฒนาแบรนด์ และทิศทางในการขับเคลื่อนแบรนด์ได้อย่างเหมาะสม หรือการเข้าใจ Brand DNA ของตัวเองอย่างถ่องแท้
การมีเหตุมีผล คือ การวางกลยทุธ์ การจัดการธุรกิจ การสร้างแบรนดือย่างมีระบบแบแผน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การประชาสัมพันธ์ การจัดจำหน่าย รวมไปถึงการบริการลูกค้า
การมีภูมิคุ้มกัน หรือ การบริหารความเสี่ยง Risk Management เพื่อเตรียมแผนรองรับความไม่แน่นอน หรือปัจจัยต่างๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งสามารถส่งผลต่อธุรกิจได้
ขณะที่การ มีความรู้จริงในเรื่องที่ทำ รวมทั้งการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมี ธรรมาภิบาล จะทำให้แบรนด์ได้รับการยอมรับ และค่อยๆ สะสมความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจจากสังคม รวมไปถึงการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่พนักงานในองค์กรที่ได้รู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ นำไปสู่การสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืนได้ในระยะยาว และทำให้แบรนด์ได้รับการยอมรับจากสังคมได้ในที่สุด