โอกาสครบรอบ 5 ปี ของการก่อตั้ง “มูลนิธิใบไม้ปันสุข” โดย บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษา สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตเยาวชนไทย เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Sustainable Development Goals (UN SDGs) ในเป้าหมายที่ 4 ในเรื่องของการพัฒนาด้านการศึกษา (Quality Education)
มูลนิธิใบไม้ปันสุข เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2560 ด้วยวิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการเรียนรู้และลงมือทำเพื่อให้เยาวชนอ่านออกเขียนได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี” เริ่มนำร่องการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับ การอ่านออก-เขียนได้ของเด็กๆ เพราะถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการเรียนรู้ ในการสร้างความยั่งยืนทุกด้าน จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาโครงการอื่นๆ ตามมา เพื่อพัฒนาทักษะและพฤติกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีปลายทางคือสร้างสังคมที่มีความสุข
คุณยอดพจน์ วงศ์รักมิตร ประธานมูลนิธิใบไม้ปันสุข กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีความเชื่อ หลักการ วิธีทำงานที่คล้ายกัน เพื่อร่วมเป็นทีมได้สมบูรณ์แบบขึ้น จากความร่วมมือในรูปแบบ 4 ประสาน ทั้งมูลนิธิใบไม้ปันสุข โดยบางจาก รวมทั้ง ทุ่งสักอาศรม, บมจ. เอสซีจี เคมิคอลส์ และ มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ทำให้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ มีความเชี่ยวชาญและพัฒนากิจกรรมด้านการศึกษาเพื่อต่อยอดงานร่วมกับพันธมิตรได้อย่างน่าสนใจและแข็งแรงขึ้น
ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของมูลนิธิฯ คือ การเดินหน้าผลักดันคุณภาพชีวิตเยาวชนไทยต่อเนื่องผ่าน 3 โครงการสำคัญอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ โครงการอ่านเขียน เรียนสนุก ปั้นเด็กจิ๋ว เป็นเด็กแจ๋ว, โครงการรักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ และ โครงการโซลาร์ปันสุข เพื่อเป็นการส่งเสริมและขยายองค์ความรู้เรื่องการอ่านเขียนของเยาวชน Circular Economy และ นวัตกรรมทางการศึกษาและพลังงาน อีกด้วย และด้วยความมุ่งมั่นร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดย โครงการอ่านเขียน เรียนสนุก ปั้นเด็กจิ๋ว เป็นเด็กแจ๋ว มุ่งฝึกทักษะการอ่าน เขียน อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการศึกษา โดยได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับสถานศึกษาในเครือข่ายเกือบ 200 แห่ง ใน 52 จังหวัดทั่วประเทศ และมอบโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เยาวชนไปแล้วกว่า 15,000 คน
ส่วน โครงการรักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ จัดตั้ง 8 สถานีเรียนรู้ เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อจัดการขยะ ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรก หลังดำเนินงานกับโรงเรียน 35 แห่ง ได้คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลแล้วกว่า 6,000 กิโลกรัม ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 17,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ความยั่งยืนที่แข็งแรงมาจากรากฐาน
คุณกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า “บางจากฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจมาตลอดระยะเวลาการดำเนินงานมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปีแล้ว ขณะที่มูลนิธิใบไม้ปันสุขถือเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นที่จะดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างรากฐานของความยั่งยืน คือ การพัฒนาเยาวชนทั้งในด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายอื่นๆ และร่วมปลูกฝังจิตสำนึกและพฤติกรรมที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและนโยบายชาติ ตามโมเดล BCG Economy โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิฯ เป็นผู้ให้แนวทางในการทำงาน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรมากมาย ที่สำคัญคือการได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหารและเพื่อนพนักงานในกลุ่มบริษัทบางจาก ทั้งในรูปแบบของคำแนะนำ การช่วยสนับสนุนโครงการต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบและการสละเวลามาร่วมเป็นพี่เลี้ยงอาสาเพื่อช่วยให้คำแนะนำและติดตามความคืบหน้าโครงการ เป็นไปตามวัฒนธรรมพนักงานของเราคือ ‘เป็นคนดี มีความรู้ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น’
หนึ่งในความภาคภูมิใจของบางจากฯ และมูลนิธิฯ คือโครงการ “อ่านเขียนเรียนสนุก” ของมูลนิธิใบไม้ปันสุขได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาค Asia Responsible Enterprise Awards (AREA) 2021 ประเภท Investment in People และเข้ารอบสุดท้ายรางวัลระดับโลก S&P Global 2020 ประเภท Corporate Social Responsibility Award – Targeted แสดงถึงความสำเร็จของโครงการที่มีความโดดเด่นในด้านความรับผิดชอบ ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นกำลังใจให้พวกเรามุ่งมั่นผลักดันโครงการดี ๆ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนไทย
สำหรับกลุ่มบริษัทบางจาก มีการตั้งเป้าสำคัญด้านความยั่งยืน คือ การมุ่งสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2050 โดยเป้าหมายแรกคือ การสร้างเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2030 ผ่านแนวคิด BCP316 NET ซึ่ง
ทั้งนี้ การดำเนินการต่าง ๆ ของมูลนิธิใบไม้ปันสุข ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับ Net Zero (Net Zero Ecosystem) เพื่อพิชิตเป้าหมายด้านความยั่งยืนของกลุ่มบางจาก ที่ต้ังเป้าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2050 โดยมีเป้าหมายแรกในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2030 ตามแนวคิด BCP316 NET โดยเฉพาะการสร้างความแข็งแรงด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนในสังคม ซึ่งถือเป็นรากฐานในการนำไปสู่ความยั่งยืนในแง่มุมอื่นๆ ต่อไป
สะท้อนให้เห็นแก่นของปัญหา
อาจารย์ในดวงตา ปทุมสูติ นักวิชาการจากศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม พันธมิตรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนมิติด้านการศึกษา สะท้อนถึงปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ว่าปัญหาทั้งด้านการศึกษาและสังคม จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาทั่วประเทศ ทั้งในเมืองใหญ่และพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีทั้งเด็กที่ใช้ภาษาถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย พบว่าแต่ละโรงเรียนล้วนยังมีทั้ง “เด็กที่อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้” และ “เด็กที่อ่านออก-แต่เขียนไม่ได้” โดยสาเหตุสำคัญมาจาก หลักสูตรที่ขาดความยืดหยุ่นและเข้าใจในบริบทอันแตกต่าง การให้ความสำคัญในวิชาภาษาไทยของผู้บริหารและครู รวมถึงประสบการณ์และทักษะการสอนภาษาไทยของครู ป.1
ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิใบไม้ปันสุข ร่วมกับ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC และกลุ่มบริษัทบางจาก ได้จัดทำ โครงการ รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ โดยมีพันธกิจในการปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจพอเพียงและสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากสิ่งรอบตัว ผ่าน 8 สถานีเรียนรู้ ได้แก่ สถานีธนาคารขยะ สถานีกล่องนม-ถุงนมกู้โลก สถานีน้ำมันพืชใช้แล้ว สถานีใบไม้ปันสุข สถานีเรือนวัสดุและหลัก 3R สถานีพอ พัก ผัก สถานีน้ำหมักชีวภาพ และสถานีถังหมักรักษ์โลก โดยหวังสานต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้าน Climate Action นำพาสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรก หลังดำเนินงานกับโรงเรียน 35 แห่ง ได้คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลแล้วกว่า 6,000 กิโลกรัม ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 17,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
คุณกฤษดา เรืองโชติวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ESG บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC ให้ความสำคัญกับเรื่อง Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน มาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ SCGC โดยได้ผนวกกับการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเล็งเห็นว่ากุญแจสำคัญที่จะสร้างความยั่งยืนได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังจิตสำนึก และสร้างพฤติกรรมในการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ให้คุ้มค่าสูงสุด ความร่วมมือกับมูลนิธิใบไม้ปันสุข และกลุ่มพันธมิตรในการดำเนินโครงการรักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการสร้างสังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน
คิกออฟโครงการใหม่ ‘โซลาร์ปันสุข’
สำหรับ โครงการโซลาร์ปันสุข ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2565 นี้ เพื่อมุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการสร้างแหล่งเรียนรู้พลังงานทดแทนในภาคเกษตรกรรม ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และต่อยอดองค์ความรู้จากโรงเรียนสู่ชุมชน โดยมูลนิธิใบไม้ปันสุข ร่วมกับ มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ พันธมิตรผู้คร่ำหวอดในวงการเทคโนโลยีการศึกษา เฟ้นหาโรงเรียนที่มีผลงานด้านการเกษตรและการพัฒนาชุมชนรอบข้าง เพื่อสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ขนาดเล็ก พร้อมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตร โดยหวังยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชนและสังคมไทย และเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ในเป้าหมายที่ 13 Climate Action และเป้าหมายที่ 7 Affordable and Clean Energy
คุณมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) และผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา กล่าวว่า ชีวิตของชาวชนบทโดยเฉพาะในหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญมักจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ขาดโอกาสในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม ซึ่งความเป็นจริงชาวบ้านเหล่านี้พร้อมที่จะร่วมในขบวนการเพิ่มคุณภาพชีวิต และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยโรงเรียนมีชัยพัฒนาจึงได้ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยสร้างโอกาสในด้านต่าง ๆ โดยเอาโรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ให้กับคนในชุมชนรอบโรงเรียน โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนมากที่จำเป็นต้องดูแลหลานเนื่องจากพ่อแม่เด็กต้องอพยพไปหารายได้
นักเรียนที่โรงเรียนมีชัยพัฒนาซึ่งมีโอกาสเรียนรู้การปลูกผักและทำธุรกิจ ตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยสร้างโอกาสให้แก่ผู้สูงอายุเหล่านี้ และหลาน โดยจะเดินทางไปใน 16 หมู่บ้านรอบ ๆโรงเรียนที่อยู่ในตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นการรับใช้สังคม
ปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กเป็นจำนวนมากได้ขอความร่วมมือให้โรงเรียนมีชัยพัฒนาดำเนินการขยายงานออกไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ และมีหลายโรงเรียนที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงและเป็นตัวอย่างพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนอื่น ๆ โดยอาศัยเงินกู้ที่ได้จัดตั้งขึ้นมาพร้อมทั้งนักเรียน และได้เริ่มอบรมผู้สูงอายุในการเพาะปลูกแบบทันสมัยที่มีผลตอบแทนสูงในโครงการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและรายได้สำหรับผู้สูงอายุ เป็นการพัฒนาหมู่บ้านโดยผ่านโรงเรียนในด้านคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม
และในช่วงปลายปี 2565 โครงการโซลาร์ปันสุข ที่ร่วมกับมูลนิธิใบไม้ปันสุขและพันธมิตร จะเริ่มอบรมให้กับนักเรียน ได้เริ่มเรียนรู้ และเข้าใจ เรื่องโซล่าเซลล์ขั้นพื้นฐาน และจะดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในบ้าน และในการปลูกผักโดยคาดหวังว่านักเรียนจะเป็นผู้แนะนำเรื่องการใช้โซลาร์เซลล์ให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชนได้เป็นลำดับต่อไป
สำหรับผู้สนใจสนับสนุนโครงการต่างๆ ของมูลนิธิใบไม้ปันสุข เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยในด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อม สามารถสนับสนุนผ่านการดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์ไลน์ “พี่ใบไม้-น้องปันสุข” https://line.me/S/sticker/20778064 การบริจาคคะแนนบัตรสมาชิกบางจากผ่าน “ตะกร้าบุญ” ในแอปบางจาก และ “กล่องปันสุข” รับบริจาคในร้านอินทนิล โดยมีแผนเริ่มวางกล่องปันสุขรับบริจาคที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลขวดนมจากร้านอินทนิล จำนวน 200 สาขาในเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป รวมถึงติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิฯ รวมถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเยาวชนด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ที่เฟซบุ๊กมูลนิธิฯ https://www.facebook.com/baimaipunsook