2022 ปีแห่ง ‘หายนะ’ ของธารน้ำแข็ง ละลายเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่กลับช่วยแก้ปัญหาขาดพลังงานให้สวิสได้

ปี 2022 นี้ ต้องถือว่าเป็นปีที่ปริมาณธารน้ำแข็งในสวิสละลายมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา โดยการศึกษาล่าสุดพบว่า ปริมาณธารน้ำแข็งละลายไปมากกว่า 6%  เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ จะมีการสูญเสียปริมาณน้ำแข็งราว 2% ต่อปี

Daniel Farinotti นักธรณีวิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีของรัฐบาลกลาง ETH Zurich และยังเป็นสมาชิกคณะกรรมการกำกับของ GLAMOS เครือข่ายตรวจสอบธารน้ำแข็งของสวิส ระบุว่า  ธารน้ำแข็งของสวิสได้สูญเสียน้ำแข็งไปประมาณ 3 ลูกบาศก์กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 6% ของปริมาณน้ำแข็งทั้งหมด เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำแข็งที่สูญเสียไป 2% ต่อปี ทำให้ปี 2022 ถูกระบุว่าเป็นปีแห่ง ‘หายนะ’ ด้วยอัตราการละลายที่ค่อนข้างสุดขั้ว

โดยทางตะวันออกเฉียงใต้ของสวิตเซอร์แลนด์ และรัฐวาเลทางตอนใต้ ชั้นน้ำแข็งที่วัดได้ระหว่าง 4 ถึง 6 เมตร หายไปที่ระดับความสูง 3,000 เมตร จากค่าเฉลี่ยในทศวรรษที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณหนึ่งเมตร การสูญเสียครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะธารน้ำแข็งขนาดเล็ก เช่น Pizol ทางตะวันออกใกล้ Liechtenstein, Vadret dal Corvatsch ใกล้ St Moritz ทางตะวันออกเฉียงใต้ และ Schwarzbachfirn ในภาคกลางของสวิตเซอร์แลนด์

ข้อมูลจาก Matthias Huss นักธรณีวิทยาที่ ETH Zurich และผู้อำนวยการ GLAMOS ระบุว่ามี 3 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ปริมาณธารน้ำแข็งละลายอย่างมากในปีนี้ ได้แก่ 1. จำนวนหิมะที่ตกลงมาน้อยท้ังในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ  2. ทรายจากทะเลทรายซาฮาราที่พัดเข้ามาและตกตะกอนอยู่บนน้ำแข็งและหิมะ ทำให้หิมะที่ปนเปื้อนทรายมีการดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ได้มากขึ้นและละลายเร็วขึ้น และ 3. คลื่นความร้อนในฤดูร้อนที่สูงเป็นประวัติการณ์​

Credit : https://www.swissinfo.ch/

โดยฤดูร้อนในปี 2022 เป็นปีที่อบอุ่นที่สุดเป็นอันดับสองของสวิตเซอร์แลนด์ นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกมาตั้งแต่ปี 2407  โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งสูญเสียหิมะและน้ำแข็งมากกว่า 3 แสนล้านตันต่อสัปดาห์ หรือเท่ากับปริมาณน้ำที่เติมลงไปในสระโอลิมปิกเต็มในทุกๆ 5 วินาที  และยังเป็นครั้งแรกในรอบหลายพันปี ที่ธารน้ำแข็งระหว่างรัฐ Vaud และ Valais บน Tsanfleuron Pass ที่ระดับความสูง 2,800 เมตร ไม่มีการเชื่อมต่อกันด้วยธารน้ำแข็งบางๆ อีกต่อไป ทำให้ผู้คนสามารถเดินบนหินได้โดยตรง

แต่ทางกลับกัน วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ก็สามารถเข้าไปช่วยบรรเทาอีกหนึ่งวิกฤตให้เบาบางลงได้ เพราะธารน้ำแข็งจำนวนมากที่ละลายได้เข้าไปชดเชยปริมาณน้ำฝนที่ตกต่ำลงอย่างมากเช่นกัน และเข้าไปช่วยเติมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนที่ใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงาน ซึ่งเป็นแหล่งในการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 60% ที่ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีการคาดการณ์ว่าน้ำจากธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมในช่วงปีที่อากาศแห้งและอบอุ่น น่าจะเพียงพอต่อการเติมอ่างเก็บน้ำทั้งหมดในเทือกเขาแอลป์ของสวิส เท่ากับว่าการละลายน้ำธารน้ำแข็งได้เข้ามามีความสำคัญต่อระบบน้ำและการจัดหาพลังงานในช่วงที่กำลังจะเกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่มีแนวโน้มว่ากำลังจะเกิดขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ต้นตอปัญหาของทั้งสองวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ ต่างมาจากผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั้งสิ้นนั่นเอง

source

Stay Connected
Latest News