แต่ปีที่แล้วเพียงปีเดียว ตัวเลขพุ่งขึ้นมาเป็น 1.02 พันล้านชิ้น จากปี 2019 มีจำนวน 770 ล้านชิ้น ขณะที่ค่าเฉลี่ยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนราว 870 ล้านชิ้นต่อปี
แต่ถึงแม้ว่าช่วง 5 ปีนี้ จะมีปริมาณการใช้ถ้วยกาแฟแล้วทิ้งเพิ่มมากขึ้น แต่ยอดเก็บกลับของบรรจุภัณฑ์ หรือ Return rate เพื่อนำกลับมารีไซเคิลก็ยังอยู่ในระดับต่ำไม่ถึง 1 ใน 3 โดยมีสัดส่วนการเก็บกลับ 27.5% หรือประมาณ 238.57 ล้านถ้วย ซึ่งเกือบ 80% เป็นถ้วยพลาสติก และอีกกว่า 20% เป็นถ้วยกระดาษ
ทางกระทรวงฯ จึงได้เสนอมาตรการเพื่อเพิ่มความตระหนักในการลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง ผ่านการใช้ระบบมัดจำค่าบรรจุภัณฑ์ (deposit system) ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. นี้เป็นต้นไป โดยจะให้แบรนด์แฟรนไชส์กว่า 100 แห่ง ทำการชาร์จค่าบรรจุภัณฑ์จากลูกค้าเพิ่มขึ้น 300 วอนต่อถ้วย และลูกค้าจะได้รับเงินคืนหลังจากนำบรรจุภัณฑ์กลับมาคืนให้กับร้าน
บริษัทวิจัย Korea Research ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวน 1,000 คน เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา และพบว่า 81% ของผู้ตอบแบบสอบถามยินดีที่จะยอมรับความไม่สะดวกที่จะเกิดขึ้นจากระบบที่กำลังจะประกาศใช้นี้
กระทรวงสิ่งแวดล้อมของเกาหลียังเชื่อว่า มาตรการใหม่นี้จะช่วยเพิ่ม Return Rate ของบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งพวกนี้กลับคืนเข้ามาในระบบได้สูงถึง 90% เลยทีเดียว พร้อมทั้งยังได้จัดสรรงบ 8.75 พันล้านวอน (6.35 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อติดตั้งเครื่องจัดเก็บแก้วเปล่าไว้ตามสถานที่สาธารณะกว่า 500 แห่ง และตามสาขาแฟรนไชส์ร้านเครื่องดื่มต่างๆ กว่า 1,000 แห่งท่ัวประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มอัตรา Return Rate ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อราวเดือนเมษายน ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้เริ่มมาตรการแบนกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบ Single-use รวมไปถึงช้อนส้อมพลาสติก ไม่จิ้มฟัน และพลาสติกที่ใช้ปูโต๊ะ พร้อมระบุโทษหากฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงิน 5 แสน -2 ล้านวอน ซึ่งเป็นโทษสูงสุด ขึ้นอยู่กับขนาดของร้าน และการกระทำความผิด แต่หลังจากนั้น 3 เดือนก็ได้ถูกผ่อนผันให้ระงับโทษปรับชั่วคราว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ส่งผลต่อผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะขนาดเล็ก แต่หลังจากวันที่ 24 พ.ย. นี้ จะเริ่มนำมาตรการกลับมาใช้อีกครั้ง หลังพิจารณาอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อ
Park Yong-beom เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่า “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งอย่างกระทันหัน จะไม่สามารถให้ผลในเชิงปฏิบัติ แต่การค่อยๆ ดำเนินการและมีมาตรการในการจัดเก็บค่าปรับ และระบบการมัดจำมาใช้ จะทำให้ประชาชนค่อยๆ เรียนรู้และซึมซับปรับพฤติกรรม เพื่อป้องกันทั้งเจ้าของร้านและลูกค้ามีการคัดค้านมาตรการเหล่านี้”