เด็นโซ่ ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ ฉลอง 5 ทศวรรษ เร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามแนวทางความยั่งยืน ตั้งเป้าเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2035 (พ.ศ. 2578)
พร้อมแนะนำนวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งานภายใต้แนวคิด Lean and Clean Manufacturing ด้วยการผสมผสานระหว่างการนำทักษะแรงงานคนและระบบอัตโนมัติมาใช้ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดความสูญเปล่าพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต รวมทั้งลดการใช้พลังงานในภาพรวมและส่งเสริมการผลิตด้วยพลังงานหมุนเวียน และสามารถจัดการบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วยเพื่อสร้างรากฐานในการก้าวสู่ Thailand 4.0 และ Carbon Neutrality ไปในเวลาเดียวกัน
นายนาโอโตะ อินนูซูกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด กล่าวว่า เด็นโซ่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนสามารถยืนหยัดเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์เคียงข้างสังคมไทย ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา เด็นโซ่ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และความสะดวกสบายของผู้คน โดยมีจุดมุ่งหมายในการใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์สังคมล้ำสมัยที่ทำให้ผู้คน ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและสมดุล
ดร. ธีระวัฒน์ ลิมปิบันเทิง ประธานบริษัท สยาม เด็นโซ่ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กล่าวว่า แนวคิดการผลิตแบบ Lean and Clean จะช่วยให้เด็นโซ่ก้าวข้ามความท้าทายใน 2 เรื่องสำคัญ ทั้งการยกระดับและเพิ่มความสามารถทางการผลิต รวมทั้งช่วยแก้ไขและฟื้นฟูสภาพอากาศซึ่งเป็นวาระสำคัญของโลกในปัจจุบัน เพื่อผลักดันบริษัทในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์คุณภาพระดับโลก สู่ ‘ผู้นำการขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ดียิ่งกว่าเพื่อประชาคมโลกอย่างยั่งยืน’ ภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ประการของเด็นโซ่ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน การเพิ่มศักยภาพในการผลิตที่สอดคล้องกับตลาดในอนาคต และการพัฒนาเทคโนโลยีของเด็นโซ่เพื่อมาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาทางสังคม
“แนวทางการผลิตแบบเด็นโซ่จะช่วยสามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกตามกรอบ ESG ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้ประเทศ พร้อมทั้งสามารถดึงดูดการลงทุนให้กับประเทศได้ภายในเวลาเดียวกัน ด้วยการพลิกวิกฤติจากการพัฒนาการรับมือกับปัญหาสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม มาช่วยสร้างโอกาสทางการค้า และยกระดับมาตรฐานของธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศ ให้สามารถเข้าไปทำตลาดในภูมิภาคต่างๆ เช่นในยุโรป รวมทั้งภูมิภาคอื่นๆ ที่เตรียมประกาศใช้ตามมาในอนาคต”
เติมเต็ม Ecosystem อุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์
เพื่อเพิ่มโอกาสให้สามารถเติบโตได้มากขึ้น กลุ่มเด็นโซ่ จะเร่งลงทุนขยายธุรกิจไปยังกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีแห่งอนาคต เพื่อเติมเต็ม Ecosystem ในอุตสาหกรรมการผลิต และพัฒนาระบบการขนส่งของประเทศมากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบยานยนต์ไฟฟ้า ระบบขับขี่แบบไร้คนขับ การเชื่อมต่อการขับขี่ รวมทั้งการพัฒนาเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีทางด้านการเกษตร ซึ่งคาดว่าในอนาคตสัดส่วนรายได้จากกลุ่มเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้จะเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจะสร้างสัดส่วนยอดขายได้ราว 15-20% ภายใน 5 ปี ซึ่งนอกจากจะดีต่อธุรกิจของบริษัทเองแล้ว ยังดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งจากความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น พร้อมดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งการเริ่มขับเคลื่อนแนวทางการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับเริ่มนำร่องไปสู่เทคโนโลยีแห่งอนาคตมากขึ้น จึงคาดว่ารายได้ในสิ้นปีนี้จะสามารถเติบโตได้มากกว่า 10% จากปี 2021 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถทำยอดขายโดยรวมจาก 10 บริษัทในกลุ่มได้กว่า 103,024 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทางกลุ่มเด็นโซ่ ได้วางแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในแต่ละมิติ ไว้ดังต่อไปนี้
1. ด้านสิ่งแวดล้อม
ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ผ่านโซลูชันด้านอุตสาหกรรม เช่น การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในสายการผลิต การออกแบบเครื่องจักรภายใต้แนวคิด 1/N หรือการลดขนาดเครื่องจักรให้มีขนาดเล็กและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรเพื่อลดการใช้พลังงานและลดการแผ่รังสีความร้อน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของการดักจับและจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากสายการผลิต
2. ด้านเศรษฐกิจและสังคม
เพิ่มการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นให้กับคนไทย รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลไทย รวมถึงการพัฒนาทักษะความสามารถของเจ้าหน้าที่ออกแบบและติดตั้งระบบการผลิตอัตโนมัติทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรม (System Integrator หรือ SI) นอกจากนี้ ยังมีการจัดการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อรองรับแผนเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่อไป
อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทเด็นโซ่ประเทศไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 ในนาม บริษัท นิปปอนเด็นโซ่ ประเทศไทย จำกัด โดยประเทศไทยนับเป็นสาขานอกประเทศญี่ปุ่นสาขาแรก กลุ่มบริษัทเด็นโซ่ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์รายแรกของไทยภายใต้นโยบายจากภาครัฐที่เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ เมื่อผสานกับนโยบายที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นหลัก ทำให้กลุ่มบริษัทเด็นโซ่ประเทศไทยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ธุรกิจเจริญเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง