Big Change ในรอบ 69 ปี สำหรับธุรกิจโบรกเกอร์ประกันชั้นนำของประเทศอย่าง TQM กับการประกาศทรานสฟอร์มขยายเข้าไปสร้างโอกาสในน่านน้ำใหม่จาก Core Business เดิมในธุรกิจประกัน มาสู่กลุ่ม Financial และแพลตฟอร์มเทคโนโลยี
พร้อมเปลี่ยนชื่อจาก บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TQM มาสู่ TQMalpha ในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้ง กับการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เพิ่ม และเป้าหมายในการเติบโต ในปี 2026 ทั้งการเพิ่มจำนวนลูกค้าจาก 4 ล้านคน เป็น 10 ล้านคน และรายได้ขยับไปแตะ 50,000 ล้านบาท จาก 30,000 ล้านบาท ซึ่งขาในกลุ่ม Non-insurance จะขยับสัดส่วนมาอยู่ที่ 50% เท่ากับกลุ่มธุรกิจประกัน
ดร.นภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TQM กล่าวถึงการทราสฟอร์มธุรกิจของ TQMalpha มาจากการเปลี่ยนแปลงรอบด้านของ Business Landscape ในปัจจุบัน ทั้งจากพฤติกรรมของลูกค้า คู่แข่ง และเทคโนโลยี ประกอบกับโอกาสทางการตลาดที่ TQM สามารถต่อยอดในการสร้างการเติบโตได้ ทำให้มีการปรับโครงสร้าง จัดกลุ่มธุรกิจเป็น 3 กลุ่ม ทั้งในกลุ่มเดิมที่แข็งแรงอย่างกลุ่มธุรกิจประกัน ภายใต้ 10 บริษัทย่อย ที่มีการขยายการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อดำเนินธุรกิจในกลุ่มนายหน้าประกันอย่างครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งประกันภัย ประกันชีวิต ประกันกลุ่ม การจัดการด้านสินไหม ประกันธุรกิจ การเพิ่มโอกาสจากต่างประเทศในรูปแบบ JV รวมไปถึงการให้บริการด้านเทคโนโลยีแก่ลูกค้า เป็นต้น
ส่วนในอีก 2 กลุ่มใหม่ คือ กลุ่มธุรกิจการเงิน โดยนำร่องตั้งบริษัท อีซี่ เลนดิ้ง จำกัด ในการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับของ ธปท. เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้ลูกค้าสำหรับการสร้างหลักประกันในชีวิตและทรัพย์สินได้มากขึ้น รวมไปถึงการขยายโอกาสในกลุ่มพันธมิตรตามเทรนด์ธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจสีเขียว เช่น การให้สินเชื่อรถยนต์ EV สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ Taxi เพื่อเข้าถึงกลุ่มนาโนไฟแนนซ์ได้มากขึ้น ภายใต้แนวคิด High Cash Minimum Risk ซึ่งภายหลังดำเนินธุรกิจมาสามารถทำผลประกอบการได้ดีต่อเนื่อง และไม่มีหนี้เสียเลย ขณะที่วางเป้าหมายรายได้สิ้นปีนี้ที่ 1,500 ล้านบาท และเพิ่มถึง 10,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี
ขณะที่กลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มเทคโนโลยี จะดำเนินงานผ่านบริษัท ชัวร์ครับ.คอม จำกัด สำหรับให้บริการนายหน้าประกันแก่ลูกค้า ด้วยการถือหุ้นผ่านบริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด เพื่อมุ่งทำตลาดกลุ่มประกันภัยดิจิทัล ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ ในกลุ่ม GenZ พร้อมนำร่องประกาศลงทุน 40% ในบริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด เพื่อรุกการให้บริการประกันในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ในรูปแบบ Win-win ทั้งการต่อยอดธุรกิจด้านประกันและการเงินบนแพลตฟอร์ม Builk One Group รวมทั้งการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของ TQM ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของ Builk One Group
“การขยับของ TQM ในครั้งนี้ ถือว่าอยู่ในช่วงโอกาสและจังหวะเวลาที่ใช่ ตลอด 69 ปีที่ผ่านมา เราเหมือนชาวประมงที่มีความชำนาญในการจับปลาในน่านน้ำ แต่ไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองแค่การหาปลาในน่านน้ำไทย เพราะมีน่านน้ำอีกหลายแห่งที่เราสามารถเข้าไปได้ ประกอบกับ ในน่านน้ำมหาสมุทรก็ไม่ได้มีแค่ปลา แต่ยังมีทั้งกุ้ง หอย ปู ปลาหมึก ที่เราสามารถจับขึ้นมาได้เช่นกัน ขณะที่การเพิ่มเทคโนโลยีเข้ามาก็เหมือนกับเรามีเครื่องมือมาช่วยให้สามารถตักปลาได้กว้าง และลึกมากกว่าการจับแบบเดิมๆ ที่สามารถช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและแข็งแรงในฐานะชาวประมงของเราได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นนั่นเอง” ดร.นภัสนันท์ พรรณนิภา กล่าว
ด้าน ดร. อัญชลิน พรรณนิภา ประธาน TQM ได้ให้คำมั่นไว้ว่า นับจากวันนี้ไป TQM Corporation จะกลายเป็นอดีตและถูกแทนที่ด้วย TQMalpha แต่ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ธรรมนูญที่ TQM ยังคงยึดมั่น ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปกี่ยุคสมัยก็ตาม คือคำว่า CARE หรือความใส่ใจในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ใจในพนักงาน ใส่ใจต่อลูกค้า คู่ค้า เพื่อร่วมงาน และสุดท้ายที่ไม่สามารถขาดได้คือ การให้ความใส่ใจต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน
ทลายกำแพง เพื่อเพิ่มโอกาสในธุรกิจประกันภัย
การทรานส์ฟอร์มมาสู่ TQMalpha นอกจากโอกาสทางธุรกิจของกลุ่ม TQM และพันธมิตรจากทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจแล้ว ยังสามารถช่วยทลายกำแพงบางเพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจประกันภัยของประเทศไทยเติบโตได้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดย คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ในฐานะกรรมการบริษัท TQM มีมุมมองว่า ธุรกิจประกันภัย ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเสี่ยง ทั้งการดำเนินชีวิตของผู้คน รวมไปถึงหลักประกันในการขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆ ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนโดยไม่สะดุด จากความเสี่ยงต่างๆ ที่อยู่รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาวะเงินเฟ้อ ความขัดแย้งต่างๆ หรือเหตุไม่คาดฝันที่อาจจะมากระทบกับการดำเนินธุรกิจอย่างไม่รู้ตัวได้
“น่าคิดว่า ธุรกิจประกันภัยถือเป็นความจำเป็น และมีประโยชน์อย่างมาก แต่ทำไมการถือครองกรมธรรม์ของคนไทยยังไม่สูงมากนัก มีเพียงประกันภัยรถยนต์ที่ตลาดใหญ่เพราะมีกฏหมายบังคับให้ต้องซื้อ แต่สัดส่วนในตลาดอื่นๆ ยังน้อยมาก เช่น ในตลาดบ้าน มีคนทำประกันไว้เพียงแค่ 2 ล้านหลัง จากจำนวน 28 ล้านหลัง ซึ่งปัจจัยสำคัญมากจาก “ความยาก” ของการทำประกัน ทั้งยากในการทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นความครอบคลุมของการประกัน การให้รายละเอียดของตัวบ้าน การต้องมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบในพื้นที่ หรือแม้แต่บางคนที่อยากซื้อก็ไม่รู้ว่าจะหาซื้อได้จากที่ไหนที่น่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่คนที่ทำก็ทำมักจะทำไว้พร้อมกับตอนกู้ซื้อบ้าน ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าจะหาซื้อได้จากที่ไหน ประกอบกับยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่เข้ามาทำตลาดในกลุ่มนี้อย่างจริงจัง”
การขยับตัวของ TQM ในครั้งนี้ เป็นการเติมคนที่อยู่นอกธุรกิจประกันเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเติบโต ซึ่งเชื่อว่าการมองเห็น Painpoint จากคนนอกอุตสาหกรรม จะสามารถช่วยลด “ความยาก” ของการประกันภัยลง ให้ง่ายขึ้นทั้งการเข้าถึง หรือการซื้อ ที่เมื่อตัดสินใจจะซื้อก็สามารถกดซื้อได้เลย ตามแนวทางและวิธีคิดของสตาร์ทอัพ ที่เน้นความง่าย ความสะดวกให้กับผู้บริโภค จึงถือเป็นการเปลี่ยนผ่านสำคัญของธุรกิจประกันภัย เหมือนกับการเติบโตของ Mobile Banking ที่ก่อนหน้านั้นการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินของคนไทย ก็มีความยุ่งยากซับซ้อนไม่ต่างกัน แต่ปัจจุบันคนไทยทุกคนมีความคุ้นเคยในการใช้งาน Mobile Banking เป็นอย่างดี ซึ่งมองว่าทิศทางการขับเคลื่อนของธุรกิจประกันภัยก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน
โดยช่วงที่ผ่านมา มีหนึ่ง Lesson Learn ที่น่าสนใจ คือ การขายประกันโควิด แม้ผลลัพธ์จะมีผู้เล่นในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แต่เราได้เห็นปรากฏการณ์ในการซื้อประกันที่ทำได้ง่ายๆ เข้าถึงได้สะดวก ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก จึงสะท้อนได้ว่า หากมีผู้ประกอบการที่เข้ามาทำตลาด สร้างการรับรู้ และพัฒนาโปรดักต์ในตลาดอย่างจริงจังก็จะสามารถสร้างการเติบโตในตลาดได้แบบเกินความคาดหมาย ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้แบบภาพรวม รวมทั้งได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง Ecosystem โดยที่ TQM กำลังจะเข้ามาบุกเบิกในแนวทางดหล่านี้อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ข้อมูลตลาดประกันในประเทศไทยโดยรวมอยู่ที่เกือบ 9 แสนล้านบาท เป็นตลาดประกันชีวิตมากกว่า 6 แสนล้านบาท และธุรกิจประกันภัยกว่า 2 แสนล้านบาท โดยตลาดใหญ่ในธุรกิจประกันภัย คือ ประกันรถยนต์ด้วยสัดส่วน 50-60% ตามมาด้วยตลาดในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 20% ที่เหลือเป็นการประกันภัยในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันการถือครองกรมธรรม์ประกันภัยของคนไทยมีสัดส่วนที่ราว 30-40% ขณะที่ TQM มีสัดส่วนรายได้ในตลาดประกันโดยรวมอยู่ที่กว่า 2 หมื่นล้านบาท