ญี่ปุ่นโชว์นวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ พัฒนาถุงใส่เมล็ดกาแฟแบบไม่ต้องมีวาล์ว ช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติก แถมเก็บความสดใหม่ได้นานกว่าเดิม จึงสามารถนำไปใช้บรรจุอาหารสด เพื่อช่วยลดปัญหาการสูญเสียอาหาร หรือ Food Loss ได้อีกทางหนึ่งด้วย
6 บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น ร่วมประกาศความสำเร็จในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่สามารถใช้เทคโนโลยีควบคุมก๊าซแบบใหม่ ทำให้สามารถปรับปริมาณอากาศภายในถุงได้ พร้อมออกแบบเส้นทางการไหลขนาดเล็กให้กับอากาศภายในถุง รวมถึงผนึกฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารช่วยรักษาความสดและคุณภาพของเมล็ดกาแฟ รวมถึงอาหารสดได้ยาวนานกว่าบรรจุภัณฑ์ทั่วไป จึงเป็นอีกหนึ่งโซลูชันส์ที่สามารถลดปัญหาการสูญเสียอาหารลงได้
บรรจุภัณฑ์นี้ได้เริ่มเปิดตัวและจำหน่ายในช่วงฤดูร้อน ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ภายใต้แบรนด์ asue ซึ่งอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัท Nakabayashi โดยจะเน้นการนำไปใช้เป็นนถุงใส่เมล็ดกาแฟเป็นหลัก เนื่องจากหลังการคั่วเมล็ดกาแฟ ตัวเมล็ดกาแฟจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกันการระเบิด และการเสียรูปทรงของถุง จึงจำเป็นต้องลดก๊าซเพื่อปรับปริมาณอากาศภายในถุง ที่ผ่านมาจึงมักจะมีการติดวาล์วพลาสติกเพื่อปรับปริมาณอากาศภายในถุงบรรจุเมล็ดกาแฟ
แต่ด้วยเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้วาล์วอีกต่อไป จึงลดการใช้พลาสติกและดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประกอบกับการมีวัสดุฉนวนชั้นนอกช่วยป้องกันไม่ให้ไอน้ำและกลิ่นซึมผ่าน จึงสามารถรักษารสชาติของเมล็ดกาแฟไว้ได้อีกด้วย รวมไปถึงเหมาะกับการบรรจุอาหารสดต่างๆ
สำหรับพันธมิตรอื่นๆ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนโปรเจ็กต์นี้ ประกอบด้วย Mitsubishi Chemical Holdings Group, Oji F-Tex , MIB, NAGASE และ Kyokuyo โดยบรรจุภัณฑ์ด้านนอกที่ใช้วัสดุฉนวนซึ่งทนทานต่อความชื้นสูง และมีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน เป็นของบริษัท Oji F-Tex Co., Ltd. ขณะที่ด้านในจะใช้วัสดุฟิล์มเรซินชีวภาพที่ย่อยสลายได้ของ Mitsubishi Chemical ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง
ส่วนการดีไซน์เส้นทางของอากาศหลังการปิดผนึกถุงนั้น เป็นผลจากการใช้อุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมฟิล์มด้วยคลื่นอัลตราโซนิกที่พัฒนาร่วมกัน จากบริษัท Nagase และ MIB แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับความหนาของวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ แต่เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้กับวัสดุต่างๆ เช่น ฟิล์ม และกระดาษได้ ด้วยการปรับขนาดความกว้างของช่องให้อากาศผ่าน ก็จะสามารถปรับปริมาณก๊าซที่เข้าออกได้อย่างยืดหยุ่นตามประเภทของอาหาร
ทั้งนี้ จากจุดแข็งของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถควบคุมปริมาณอากาศได้ จึงเหมาะกับการนำไปประยุกต์เพื่อรักษาความสดของอาหารที่เน่าเสียง่าย เช่น ผัก ผลไม้ ที่จำเป็นต้องรักษาความเข้มข้นของออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหมาะสมภายในบรรจุภัณฑ์