ธนาคารกสิกรไทย เปิดแซนด์บ็อกใหม่ SolarPlus ทดลองโมเดลขับเคลื่อนพลังงานสะอาดประเทศไทย ร่วมกับ 4 พันธมิตร ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เดินหน้า GO GREEN Together สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดของประชาชน ด้วยการติดตั้งโซลาร์รูฟให้แก่ประชาชนฟรี เพื่อสามารถผลิตและขายไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในไทย
โดยเลือกนำร่องโครงการที่หมู่บ้านศุภาลัยการ์เด้นวิลล์ รังสิต คลอง 2 ที่มีลูกบ้านในโครงการมากกว่า 456 หลัง ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ซึ่งมีขนาดมากพอที่สำหรับการเป็น Sandbox สำหรับการเป็น Success Case Story เพื่อศึกษาการผลิตและจำหน่ายพลังงานสะอาดในรูปแบบ Peer to Peer Model ก่อนจะนำร่องการขยายโมเดลไปทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้ากระจายการติดตั้งโซลาร์รูฟให้บ้านเรือนประชาชนทั่วประเทศ 5 แสนหลัง ภายใน 5 ปี พร้อมเตรียมวงเงินสินเชื่อสำหรับโปรเจ็กต์นี้ไว้ 50,000 ล้านบาท ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์และจุดเปลี่ยนในการขับเคลื่อนด้านพลังงานสะอาดของประเทศ ที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อน ทั้งภาคการเงิน ในฐานะผู้สนับสนุนการลงทุน หน่วยงานขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายด้านพลังงานของประเทศ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ติดตามเมกะเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของทั้ง Green Ecosystem
นำร่องแเฟสแรก SolarPlus Model
แซนด์บ็อก SolarPlus ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสนับสนุนให้คนไทยเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด จากการศึกษา Success Case ในเฟสแรกที่ศุภาลัย การ์เด้นวิลล์ รังสิต คลอง 2 ซึ่งจะเป็น Best Practice Model เพราะถือเป็นครั้งแรกที่มีการติดตั้งโซลาร์รูฟ ในตลาดกลุ่มที่ค่อนข้างแมสมากกว่า ด้วยราคาบ้านราว 3-5 ล้านบาท ทำให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสมสำหรับโมเดลการทดลอง เพราะก่อนหน้านี้ ด้วยข้อจำกัดด้านต้นทุน ทำให้การติดตั้งโซลาร์รูฟ จำกัดอยู่ในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลัก หรือหากเป็นภาคประชาชนก็จะอยู่ในกลุ่มบ้านพรีเมียมราคา 10-20 ล้านบาทขึ้นไป ทำให้ยังเป็นตลาดที่ค่อนข้างจำกัด และไม่สามารถเรียนรู้การพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนพลังงานสะอาดในระดับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความเคลื่อนไหวของ Kbank และพันธมิตรทั้ง 4 ในครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดโมเดลเพื่อทดลองพลังงานสะอาดที่ถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งของประเทศไทย จากความได้เปรียบที่มีแดดค่อนข้างมากอย่างจริงจัง และถือว่าเป็นการสร้าง Benefit ให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนในสนามการทดลอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ เพราะสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟได้ฟรีๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นค่าติดตั้ง อุปกรณ์ใดๆ รวมไปถึงค่าบำรุงรักษาก็ตาม แถมมีการประเมินไว้ว่าค่าไฟที่เคยจ่ายในแต่ละเดือนจะลดลงไปประมาณ 20%
ขณะที่ในมุมของประเทศ หากมีการใช้พลังงานสะอาดในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สามารถบรรลุเป้าหมาย ตามที่เคยได้ประกาศไว้ในเวทีโลก เพื่อขับเคลื่อนสู่ Carbon Neutral ภายในปี 2050 รวมทั้ง Net Zero ภายในปี 2065 หรือแม้กระทั่งการบรรเทาวิกฤตโลก จากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเป้าหมายด้านศักยภาพในการผลิตพลังงานสะอาดของ SolarPlus นั้น ได้คาดดารณ์ไว้ว่า จะสามารถผลิตพลังงานสะอาดได้ราว 4.5 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 2.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบได้กับปลูกต้นไม้ 240 ล้านต้นเลยทีเดียว
ผนึกพันธมิตรสร้าง Green Ecosystem
ขณะที่ตัวแทนจากแต่ละฝ่ายที่เข้าร่วมใน SolarPlus Sandbox ครั้งนี้ มีมุมมองต่อทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดของประเทศ ในมิติต่างๆ ต่อไปนี้
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมีทิศทางในการขับเคลื่อนไปสู่ Future of Finance ที่มากกว่าการเป็นแค่ธนาคารที่ดำเนินธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น (Beyond Banking ) โดยเฉพาะการสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มที่สร้างให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ ESG โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกทั้งกับลูกค้าธนาคารไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก กลาง หรือใหญ่ รวมไปถึงประเทศ และทั่วโลก
ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสนับสนุน Green Economy ซึ่งเป็นหนึ่งในโรดแม็พการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ BCG เช่น สินเชื่อธุรกิจเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์ สินเชื่อบ้านสีเขียว สินเชื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า บริการให้เช่าใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สาขา และจับมือกับพันธมิตรทำโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยใช้ชีวิต Green Lifestyle ได้ง่ายขึ้น
รวมทั้งโครงการล่าสุดอย่าง SolarPlus เพื่อสนับสนุนให้คนไทยใช้พลังงานสะอาด ซึ่งธนาคารฯ ได้ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด เพื่อใช้ลงทุนติดตั้งและบำรุงรักษาโซลาร์รูฟให้แก่ประชาชนที่ร่วมโครงการ และธนาคารฯ ยังรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดที่เหลือจากการใช้งานของบ้านที่ร่วมโครงการนี้ เพื่อนำมาใช้ในเครือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งกิจกรรมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อเพิ่ม Carbon Handprint ให้กับองค์กร
นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รองผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และประธานคณะกรรมการ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ให้บริการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบโซลาร์เซลล์ของบ้านเรือนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและบำรุงรักษา พร้อมทั้งตกลงให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่บ้านเรือน ทั้งนี้เงื่อนไขและข้อตกลงในการจัดเก็บค่าไฟจะเป็นไปตามสัญญาการให้บริการ โดยกระแสไฟฟ้าที่เหลือใช้จากบ้านเรือนจะถูกจำหน่ายเข้าไปในระบบไฟฟ้า ในราคาหน่วยละ 2.20 บาท หรือนำมาซื้อขายพลังงานแบบ Peer to Peer Energy Trading
ทั้งนี้ บริษัทมีความคาดหวังให้โครงการนี้ช่วยจุดกระแสให้ประชาชนทั่วไปหันมาใช้พลังงานสะอาดโดยการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ที่บ้านเรือนของตัวเอง เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และหวังว่าโครงการดังกล่าวจะถูกใช้เป็นต้นแบบสำหรับ โครงการซื้อขายพลังงานแบบ Peer to Peer Energy Trading ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้แนวคิด Green Design โดยเน้นออกแบบเป็นบ้านประหยัดพลังงานมาอย่างยาวนาน และในปีนี้บริษัทฯ มีการตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 25% ภายใน 3 ปี ซึ่งเตรียมเดินหน้าติดตั้งโซลาร์ที่อาคารศุภาลัย แกรนด์ ทาวเวอร์ สำนักงานใหญ่ ตลอดจนมีแผนการติดตั้ง EV charger ที่โครงการทั่วประเทศ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนการผนึกกำลังกับธนาคารกสิกรไทยในครั้งนี้ ได้เลือกโครงการศุภาลัย การ์เด้นวิลล์ รังสิต คลอง 2 ซึ่งเป็นโครงการแนวราบที่มีลูกบ้านเข้าอยู่แล้วจำนวนมาก และคาดว่าจะได้รับความสนใจจากลูกบ้านเป็นอย่างดี เนื่องจากช่วยประหยัดไฟฟ้าให้กับผู้อยู่อาศัยภายในโครงการดังกล่าว
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินการของ กฟผ. นอกเหนือจากภารกิจหลักในอุตสาหกรรมการผลิตและส่งไฟฟ้าแล้ว กฟผ. ยังมี Solutions ใหม่ในด้านนวัตกรรมพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าในยุคดิจิทัลควบคู่ไปด้วย ทั้งในส่วนของการเข้าถึงพลังงานสะอาด และการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งในส่วนของโครงการ SolarPlus นี้ ทาง กฟผ. ก็ได้นำแพลตฟอร์ม Peer to Peer Energy Trading ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยทีมงาน กฟผ. เอง และผ่านการทดลองใช้งานจริงในโครงการ ERC Sandbox เฟส 1 มาแล้ว เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โครงการ ซึ่งความคาดหวังในส่วนของตัวแพลตฟอร์มเองจะต้องมี การพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ง่าย และเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะสามารถขยายผลสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์เพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคในอนาคตต่อไป
นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสะอาด โดยบริษัทให้บริการขึ้นทะเบียนอุปกรณ์ของโครงการพลังงานหมุนเวียน การซื้อขายใบรับรอง Renewable Energy Certification (REC) แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อเพิ่มรายได้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาด โดย REC เป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยส่งเสริมการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนานวัตกรรมพลังงานยั่งยืนของประเทศ