การเกิดขึ้นของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ผู้คนจึงกลายเป็นยานพาหนะยอดนิยม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ที่อาศัยอยู่ในเมือง เพราะมองว่าสะดวก และยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการเดินทางที่ได้ชื่อว่าดีต่อสิ่งแวดล้อม
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์สิ้นสุดลง สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเหล่านี้กลับกลายเป็นภาระสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเมื่อแบตเตอรี่ของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเหล่านี้ไม่สามารถนำกลับมาชาร์จไฟใหม่ได้ ทำให้ต้องโยนทิ้งกลายเป็นเศษขยะไปในที่สุด กลายเป็นหนึ่งในปัญหาของสังคมเมืองที่มีปริมาณการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก เราจึงมักจะได้พบซากสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้เสียแล้วทิ้งอยู่ในคลองตามเมืองใหญ่ต่างๆ
กลุ่มนักออกแบบ 4 คน ภายใต้ชื่อ Andra Formen จากสวีเดน ได้สร้างสรรค์คอลเลคชั่น E-metabolism ที่นำเอาชิ้นส่วนของซากสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ที่เก็บมาได้จากคลองในเมือง Malmö เมื่องท่าสำคัญทางตอนใต้ของสวีเดน และถือเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสวีเดน รองจากกรุงสตอกโฮล์ม และ เมืองโกเธนเบิร์ก เพื่อนำชิ้นส่วนที่งมขึ้นมาได้มาสร้างประโยชน์ใหม่ เพื่อเป็นการกำจัดขยะในแม่น้ำสายสำคัญให้กลายมาเป็นวัสดุ และสามารถนำกลับเข้ามาสู่วงจรของการสร้างประโยชน์ใช้สอยใหม่ได้อีกครั้ง
โดยกลุ่ม Andra Formen ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มนักดำน้ำ Leva Livet ในการช่วยดำน้ำเพื่อเก็บขยะชิ้นใหญ่ๆ อย่างจักรยาน หรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า โดยสามารถเก็บสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าได้มากที่สุดถึงวันละ 12 คันเลยทีเดียว พร้อมทั้งนำมาทำเป็นเครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ใหม่อีกครั้ง เช่น โคมไฟ แจกัน เตาย่างบาร์บีคิว เก้าอี้ หรือกระถางต้นไม้ ด้วยการเชื่อมโยงชิ้นส่วนต่างๆ เข้ากับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ และได้นำไปจัดแสดงในงาน Southern Sweden Design Days งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับบ้านและเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญของเมือง Malmö เพื่อให้ผู้ประกอบการทราบถึงเทรนด์การออกแบบที่ได้รับความนิยมของกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์
ขณะที่แนวคิดของผู้ประกอบการในการเลือกต่อยอดสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เนื่องจาก เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นความสนใจได้จากความคิดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนต่อสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ทั้งในฐานะยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็สามารถเป็นอันตรายอย่างมากได้เช่นกัน เมื่อถูกนำมาทิ้งไว้ในแม่น้ำเช่นนี้ ส่งผลให้สารอันตรายต่างๆ จากแบตเตอรี่ที่อาจปนเปื้อนมากับแม่น้ำที่ไหลไปทั่วทั้งเมือง เพราะไม่สามารถทนกับการแช่น้ำได้
ส่วนการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่นั้น ทางผู้ผลิตจะเน้นชิ้นส่วนที่มีสีสันสดใส หรือชิ้นส่วนที่ระบุแบรนด์ของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเพื่อตั้งใจให้ผู้คนสามารถจดจำได้ว่าสินค้าเหล่านี้มาจากชิ้นส่วนของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ารุ่นเก่า และอาจจะเป็นการส่งสัญญาณไปถึงเจ้าของแบรนด์ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้ด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งในผลิตภัณฑ์บางชิ้นจะเห็นแบรนด์สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ารุ่นเก่าปรากฎอยู่ด้วยกันถึง 3 แบรนด์เลยทีเดียว
ทางกลุ่มผู้ผลิตยังได้นำเสนอโซลูชันในการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเหล่านี้ต้องไปนอนกองรวมกันอยู่ใต้น้ำ ด้วยการเพิ่มระบบเช่าซื้อสำหรับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเหมือนระบบที่ใช้กับการเช่าจักรยานภายในเมือง รวมทั้งการออกแบบที่จอดสำหรับการนำรถมาคืน เพราะเรื่องของที่จอดรถก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกันทำให้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเหล่านี้ต้องมาอยู่แบบผิดที่ผิดทาง