นันยาง ผุดโปรเจ็กต์ Co-creation ระดมไอเดียต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศษยางพารา ที่เหลือจากการกระบวนการผลิตพื้นรองเท้าแตะช้างดาว ตามกรอบการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มโอกาสสร้าง New Engine ให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ดร. จักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ให้ข้อมูลว่า แต่ละปีมีการผลิตรองเท้าแตะ ‘ช้างดาว’ ราว 10 ล้านคู่ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า จำเป็นต้องมีเศษวัสดุที่เหลือจากการตัดในกระบวนการผลิตพื้นรองเท้าอยู่บ้าง ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นการนำเศษยางพาราที่เหลือจากกระบวนการผลิตไปใช้งานในลักษณะต่างๆ เพื่อลดการสร้าง Waste ในธุรกิจ ทั้งการนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม หรือในระดับชมุชนก็มีการนำไปใช้งานในหลากหลายวัตถุประสงค์ เช่น ใช้เป็นตัวนำก่อไฟคล้ายขี้ใต้, ทุ่นตกปลา, ทุ่นเลี้ยงกบ หรือฐานรองกันกระแทกผลไม้ เป็นต้น แต่วิธีการต่างๆ เหล่านี้ยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับวัสดุที่เหลือ ซึ่งเป็นเศษยางพาราแท้ 100% น่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าที่ผ่านมา
ขณะที่ทางนันยาง ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนา การจัดการกากอุตสาหกรรมรองเท้าเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดการภายในองค์กรเอง และร่วมกับหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ซึ่งได้ผลลัพธ์ดีขึ้นตามลำดับ และอยู่ในระหว่างการดำเนินการศึกษาในหลายๆ โครงการ
“เพื่อให้มีไอเดียและแนวทางที่หลากหลายสำหรับการขับเคลื่อน Waste Management เพื่อสร้างการเติบโตให้กับนันยางตามกรอบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างผลกระทบเชิงบวกได้ทั้งในมิติของธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในการดำเนินธุรกิจ ตามแนวทาง ‘Be a part of solution’ เพื่อให้ธุรกิจมีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมในแบบของตัวเองที่นันยางขับเคลื่อนมาโดยตลอด เช่น การทำคอลเล็คชั่นรองเท้า นันยางขยะ หรือการนำป้ายไวนิลโฆษณากว่าหมื่นชิ้นในแต่ละปีมาต่อยอดเป็น Nanyang Bag รวมทั้งการเปิดพื้นที่สำหรับการ Co-creation เปิดรับไอเดียที่หลากหลายจากทุกภาคส่วนในการต่อยอดสร้างมูลค่าให้กับ ‘เศษยางพารา 100% จากรองเท้าแตะช้างดาว’ ในครั้งล่าสุดนี้”
อย่างไรก็ตาม การ Co-creation ในครั้งนี้ นอกจากจะนำมาซึ่งโมเดลที่สามารถตอบโจทย์การเพิ่มศักยภาพในการลด Waste ในธุรกิจได้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังอาจนำมาสู่การมีโมเดลธุรกิจใหม่ สำหรับเป็น New Engine เพื่อสร้างการเติบโตให้กับนันยางได้อีกรูปแบบหนึ่งได้ด้วย ขณะที่การขับเคลื่อนโครงการ Co-creation ยังสอดคล้องกับแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs ในมิติต่างๆ ต่อไปนี้
SGDs ข้อ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การลดปริมาณมลพิษจากการเผาหรือฝังกลบของเสีย ช่วยให้สุขอนามัยที่ดีขึ้น รวมทั้งการสร้างรายได้เสริมให้กับผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส
SDGs ข้อ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีตามความต้องการผู้บริโภค สามารถลดต้นทุนผลิต เพิ่มมูลค่าขยะ สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ สร้างงาน สร้างอาชีพ
SDGs ข้อ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาขยะที่ต้นทาง ไม่ผลักภาระไปส่วนท้ายของห่วงโซ่
SDGs ข้อ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดปริมาณขยะ มลพิษ และลดวัตถุดิบใหม่ ส่งผลให้วัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์สั้นลง ทำให้ลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซค์ที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน
SDGs ข้อ 15 ระบบนิเวศบนบก ลดการกำจัดขยะด้วยการฝังกลบที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศบนบก เช่น การเกิดภาวะเรือนกระจก การใช้พลังงาน การเกิดฝนกรด เป็นต้น
SDGs ข้อ 17 ความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพิชิตเป้าหมายด้านความยั่งยืน ด้วยการเปิดรับไอเดียจากหลากหลายภาคส่วน นำมาสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน
สำหรับผู้สนใจ หรือมีไอเดียในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษยางพาราจากกระบวนการผลิตรองเท้าแตะช้างดาว ทั้งนักวิจัย สถาบันวิจัย รวมไปถึงหน่วยงานภาคเอกชน สามารถติดต่อบริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้โดยตรงผ่านอีเมลล์ [email protected]
พิเศษสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีไอเดียการนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้จริง สามารถติดต่อขอรับเศษยางพาราได้ฟรี ไม่เกินคนละ 60 แผ่น/ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสในการกระจายการนำไปใช้ประโยชน์ในหลายๆ กลุ่ม และสามารถมารับเพิ่มอีกได้ โดยสามารถติดต่อรับเศษยางได้ด้วยตัวเองที่ ศูนย์กระจายสินค้านันยาง บางหว้า เขตภาษีเจริญ โทร 063 203 9119