สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทยในปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก เพราะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทำให้สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเกิดความเสียหายและ ส่งผลให้มีสัตว์หลายชนิดที่ได้รับผลกระทบใกล้จะสูญพันธุ์
โดยเฉพาะเต่าทะเล ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนลดลงมาโดยตลอด และมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ในไม่ช้า จากหลากหลายปัจจัยทั้งโดยธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ กลายเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลว่าเต่าทะเลอาจสูญพันธุ์ไปจากท้องทะเลไทยได้ ถ้าไม่มีการอนุรักษ์อย่างจริงจัง
คุณสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยึดมั่นการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีและการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการสร้างสมดุลทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความแข็งแกร่ง มั่นคง และตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับพันธกิจในการส่งมอบความสุขและรอยยิ้มให้แก่สังคม ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา รวมถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่มุ่งมั่นถึงการเป็นองค์กรที่รับผิดชอบด้าน ESG อย่างจริงจัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อขับเคลื่อนไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด ‘MTL Low Carbon’
ล่าสุด บริษัทฯ เดินหน้าโครงการ “เมืองไทยอนุรักษ์ทะเลไทย” เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ร่วมกับ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และแหล่งความรู้เกี่ยวกับเต่าทะเล ที่อยู่ในความดูแลของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
โดยทางกองทัพเรือได้ดำเนินการอนุรักษ์เต่าทะเลและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 ทำให้ในปัจจุบันอุปกรณ์ต่างๆ เริ่มมีสภาพทรุดโทรมไม่สมบูรณ์ และมีความต้องการอุปกรณ์อื่นเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก บริษัทฯ จึงได้สนับสนุนการเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำทะเล ซึ่งเป็นระบบอุปกรณ์หลักที่ใช้งานของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ พร้อมทั้งสร้างโรงเพาะเลี้ยงสาหร่าย สำหรับใช้เป็นอาหารเต่าทะเล และยังได้ร่วมบริจาคอุปกรณ์รหัสติดประจำตัวเต่าทะเล (Microchip Number) ให้แก่โรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ เพื่อสนับสนุนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติให้อยู่คู่ท้องทะเลไทย
นอกจากนี้ ยังได้ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์เต่าทะเล เช่น การทำความสะอาดบ่อเต่า โดยมีคณะผู้บริหาร พนักงาน และจิตอาสาของเมืองไทยประกันชีวิตเข้าร่วมด้วย รวมทั้งกิจกรรมปล่อยเต่าทะเลคืนสู่ทะเล โดยครั้งนี้ได้ปล่อยเต่ารวม 26 ตัว เป็นเต่าอายุ 5 ปี ที่ศูนย์ได้ช่วยเหลือจากเต่าที่บาดเจ็บมารักษาจนหายดี 1 ตัว ชื่อ “ปกป้อง” ซึ่งมีความหมายถึงการปกป้องเต่าให้ปลอดภัย รวมทั้งการปล่อยเต่าทะเลให้ไปทำหน้าที่ในการปกป้องทะเลไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย ที่เหลือเป็นเต่าอายุ 3-5 เดือน และยังมีลูกเต่าที่เกิดจาก ‘แม่เทียนทะเล’ หรือแม่เต่าที่เกิดจากหาดเทียนทะเลกลับมาวางไข่ในบริเวณที่ตัวเองเกิดไว้อีกด้วย
ด้าน เรือเอกหญิงกรกมล กิติกัมรา สัตวแพทย์ประจำศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวางไข่ของเต่าแต่ละครั้ง จะวางครั้งละ 3-5 รัง รวมประมาณ 100 ฟอง ซึ่งในแต่ละปีจะสามารถปล่อยเต่ากลับคืนสู่ธรรมชาติได้ราว 1,000 ตัว หรือประมาณ 40% ของตัวอ่อน ขณะที่อัตราการรอดของเต่าทะเลถือว่าอยู่ในระดับต่ำประมาณ 0.1% หรือใน 1,000 ตัวจะมีอัตรารอดเพียง 1 ตัวเท่านั้น โดยเฉพาะภัยคุกคามสำคัญที่เกิดจากขยะในทะเล ซึ่งเป็นฝีมือของมนุษย์ ทำให้เต่าเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร และกินเข้าไป ทำให้ไม่สามารถย่อยได้ และต้องตายลงในที่สุด จึงมีความจำเป็นต้องปลูกฝังเรื่องการแยกขยะ และทิ้งขยะให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ไหลไปสู่ทะเลและกลับไปทำอันตรายสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในทะเลได้
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาของการจัดกิจกรรมฯ บริษัทฯ ได้ยึดแนวทางปฏิบัติ ‘MTL Low Carbon’ เพื่อตอกย้ำถึงความตั้งใจในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ การเลือกใช้อุปกรณ์หรือภาชนะที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ตลอดการจัดกิจกรรม หรือการเลือกใช้สิ่งของที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย เพื่อมุ่งเน้นเพื่อให้เป็นการจัดกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง