คาร์บอนไดออกไซด์นับเป็นปัจจัยหลักสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิดและสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มขึ้นของปริมาณคาร์บอนในอากาศนั้น ส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เรานั่นเอง ส่งผลให้ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญและร่วมแรงร่วมใจเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณคาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์
Climeworks บริษัทสัญชาติสวิสแห่งนี้คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับปัญหาคาร์บอน ที่นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของบริษัทเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศและนำกลับสู่ใต้ดิน
โดยเมื่อปลายเดือนที่แล้ว Climeworks ได้ประกาศว่า บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานดักจับก๊าซคาร์บอนไดออนไซด์จากอากาศขนาดใหญ่ที่สุดชื่อว่า “Mammoth” ตั้งอยู่ในที่ราบลาวา Hellisheiði ทางตอนใต้ของประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานดักจับคาร์บอนในอากาศอีกแห่งของบริษัทชื่อว่า “Orca” ทั้งนี้ การสร้าง Mammoth จะช่วยเสริมศักยภาพในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ให้เพิ่มมากขึ้น โดยประมาณการณ์ว่า หากแล้วเสร็จจะสามารถดักจับก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ได้กว่า 36,000 ตันต่อปี และใช้เวลาในการก่อสร้างราว 18 – 24 เดือน
จากการรายงานของ Climeworks พบว่า ปัจจุบัน Orca เป็นโรงงานดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 4,000 ตันต่อปี ซึ่งเท่ากับมลพิษที่เกิดจากยานพาหนะจำนวน 790 คันต่อปี ขณะเดียวกัน Mammoth จะเป็นโรงงานใหม่ที่สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 9 เท่าของ Orca
ด้าน International Energy Agency (IEA) ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันมีโรงงานดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 20 แห่งทั่วโลก และส่วนใหญ่ก็ไม่มีความสามารถในการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างจริงจัง จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมอุตสาหกรรมการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศถึงต้องเติบโต เพื่อให้สามารถกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 85 ล้านเมตริกตัน ให้ได้ภายในปลายทศวรรษนี้ ซึ่งเท่ากับว่าอาจจะต้องมีโรงงานใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณ 1 ล้านเมตริกตันต่อปี โดยในปัจจุบันสามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพียง 0.01 ล้านเมตริกตันต่อปีเท่านั้น
ทั้งนี้ หนึ่งในอุปสรรคของโรงงานดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศก็คือปริมาณพลังงานที่ใช้ในโรงงาน แต่คงเป็นความโชคดีของ Mammoth และ Orca เพราะสถานที่ตั้งของโรงงานอยู่ในบริเวณ the ON Power Geothermal Park at Hellisheiði (ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานไฟฟ้าความร้อนใต้พิภพ) โรงงานทั้งสองสามารถนำพลังงานหมุนเวียนที่ได้จากความร้อนใต้พิภพ และความร้อนเหลือทิ้ง (waste heat) มาใช้ในการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ หลังจากนั้นจะนำ CO2 ที่ดักจับได้เก็บไว้ใต้ดินเพื่อเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนเป็นหิน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท Carbrix
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ากำลังมีการก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่กว่า Mammoth ในรัฐเท็กซัส ที่จะเปิดใช้งานในปี 2025 และคาดว่าจะสามารถดักจับ CO2 ได้มากถึง 1 ล้านตัน แต่โรงงานแห่งนี้ใช้กระบวนการกรอง CO2 ออกจากอากาศที่ต้องใช้ความร้อนสูงกว่า Mammoth โดยจะต้องพึ่งพาทั้งพลังงานหมุนเวียนและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งก็หมายความว่า โรงงานจะต้องดักจับ CO2 ที่เกิดจากการเผาไหม้ของก๊าซธรรมชาติภายในโรงงานด้วยนั่นเอง