ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ ผู้บริโภค 96% มองว่าภาคธุรกิจควรนำประเด็นด้าน ESG มาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ และยินดีแบ่งสัดส่วนการลงทุนจำนวน 10-20% เพื่อลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินการด้าน ESG ถึงแม้ว่าอาจจะได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าผลตอบแทนโดยเฉลี่ยในตลาด
แนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนขององค์กรที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG เป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย และถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีอิทธิพลในสายตาของผู้บริโภคต่อภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือขององค์กรดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในบริษัท ธุรกิจ หรือรัฐบาลที่มีการดำเนินการด้าน ESG พบว่ากว่า 95.8% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่าภาคธุรกิจควรนำปัจจัยด้าน ESG มาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ และ 85.7% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีการนำประเด็นด้าน ESG มาพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน โดยมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่สำคัญ ดังนี้
การแบ่งสัดส่วนการลงทุน หรือการจัดพอร์ตการลงทุน พบว่า คนส่วนใหญ่ (34.3%) จะพิจารณาลงทุนโดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนจำนวน 10 – 20% มาลงทุนในบริษัทที่มีส่วนช่วยทำให้สังคม และสิ่งแวดล้อมดีขึ้น หรือมีการดำเนินการด้าน ESG
รองลงมาจำนวน 26.3% จะพิจารณาแบ่งสัดส่วนการลงทุนด้าน ESG ในระดับไม่เกิน 10% ของพอร์ตการลงทุน ในขณะที่ 15.6% ไม่ยินดีที่จะลงทุน หากการลงทุนด้าน ESG จะได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยในตลาด
อย่างไรก็ดี การพิจารณาลงทุนขึ้นอยู่ปัจจัยหลายประการ เช่น ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจากผลตอบแทนต่ำในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินอย่างยั่งยืนของธุรกิจที่มีความใส่ใจด้าน ESG และจะนำไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว มาประกอบการพิจารณาลงทุนในกิจการด้าน ESG ได้ นอกจากนี้ กว่า 3 ใน 4 (75.4%) ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีแนวโน้มจะขายสินทรัพย์ทางการเงินหากกิจการที่ลงทุนมีปัญหาเกี่ยวกับประเด็นด้าน ESG
สำหรับกิจการด้าน ESG ที่ผู้บริโภคสนใจลงทุนมากที่สุด ได้แก่ กิจการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ (72.8%) ตามด้วย เทคโนโลยีชีวภาพ เช่น พลาสติกที่ย่อยสลายได้หรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (50.1%) และเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่ม เช่น อาหารที่ทำจากพืช (46.7%)
สรุปได้ว่า ผู้บริโภคมีความคาดหวังให้ภาคธุรกิจนำประเด็นด้าน ESG ซึ่งรวมถึงประเด็นการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ และประเด็นเหล่านี้ยังส่งผลต่อการพิจารณาตัดสินใจเพื่อลงทุนในกิจการเหล่านั้น อีกทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจจากการพิจารณาถอนการลงทุนเมื่อธุรกิจเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG อีกด้วย