ภายหลังกรมป่าไม้ได้รับมอบพื้นที่โครงการเขาพระยาเดินธง คืนจากหน่วยงานที่ได้รับสัมปทานในการนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งหมดสัญญาสัมปทานไปเมื่อปี 2557 และจากการเข้าไปสำรวจพื้นที่พบว่ามีต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ถูกตัดออกไปจำนวนมาก โดยไม่ได้มีการปลูกป่าชดเชยคืนไว้ให้ ประกอบกับมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าจากคนในพื้นที่บางส่วน ส่งผลให้ป่าในบริเวณดังกล่าวกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม มีพื้นที่เขาหัวโล้น ป่าแหว่งอยู่หลายจุด รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่หายไปจนแทบจะหมด
จนกระทั่ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้เข้าไปขอฟื้นฟูป่าบริเวณดังกล่าวในปี 2559 ภายใต้โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ซึ่งจนถึงปัจจุบัน เข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งสามารถเข้าไปอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่เพิ่มเติมได้แล้วรวม 6,971 ไร่ รวมทั้งยังสามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบของแหล่งเรียนรู้การฟื้นฟูป่าในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ รวมทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกป่าให้หน่วยงานที่สนใจ ทั้งภาครัฐ องค์กรธุรกิจ และสถานศึกษาต่างได้อีกด้วย
คุณถนอมพงษ์ สังข์ธูป หัวหน้าโครงการเขาพระยาเดินธง และ คุณสุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักคุณค่าทางสังคมและความหลากหลายทางชีวภาพ ซีพีเอฟ ร่วมกันให้ข้อมูลว่า หลังซีพีเอฟได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ดูแลพื้นที่ ก็ได้ทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ ในการเข้าไปสำรวจพื้นที่ ดูความเสียหายของผืนป่า เพื่อวางแผนการฟื้นฟู และหาแนวทางในการปลูกป่าชดเชยอย่างเหมาะสม เนื่องจาก ความเสื่อมโทรม เสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จะแตกต่างกันไปตามปัญหาแต่ละจุด เช่น บางแห่งต้องปลูกอย่างพิถีพิถัน ด้วยการเคลียร์พื้นที่ใหม่ พร้อมวางระบบน้ำใหม่ บางแห่งใช้วิธีปลูกแบบเสริมป่า เพื่อเสริมในจุดที่แหว่งออกไปได้
รวมไปถึงการจัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในพื้นที่ เพื่อศึกษาพัฒนาการด้านความอุดมสมบูรณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในพื้นที่ และเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการที่สามารถจับต้องได้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งความสำเร็จของการฟื้นฟูป่าที่นี่ เกิดจากความร่วมมืออย่างจริงจังในลักษณะ 3 ประสาน โดยกรมป่าไม้ ภาคเอกชน คือ ซีพีเอฟ และชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง ร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นฟูพลิกฟื้นจากผืนป่าเสื่อมโทรม จนปัจจุบันผืนป่าที่นี่ กลับมาเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ ด้วยนวัตกรรมการปลูกป่า 4 รูปแบบ รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำและแหล่งอาหารของสัตว์ ทำให้สัตว์ต่างๆ เริ่มเข้ามาอาศัยและหากิน นอกจากนี้โครงการฯ ยังเป็นต้นแบบการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย
“ปัจจุบันเราเข้าสู่การฟื้นฟูในระยะที่ 2 ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าใหม่ได้ 6,971 ไร่ และได้เปลี่ยนสภาพจากพื้นที่เขาหัวโล้น พื้นที่ป่าแหว่ง ให้เป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น มีความหลากหลายของสัตว์ตามธรรมชาติเข้ามาอยู่พื้นที่มากขึ้น ที่เราเรียกพื้นที่นี้ว่า “ห้องเรียนธรรมชาติ” เพราะเราสามารถเรียนรู้ความหลากหลายของธรรมชาติได้รอบตัว ได้เห็นร่องรอยความเสียหายของป่าที่ถูกทำลาย แนวทางการฟื้นฟู จนกลับมาสมบูรณ์ได้อีกครั้ง รวมทั้งการเรียนรู้ระบบนิเวศต่างๆ การได้ลงมือปลูกต้นไม้ด้วยตัวเอง เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ เป็นแหล่งอาหารให้ชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการช่วยรักษาป่าต้นน้ำอีกด้วย เนื่องจากพื้นที่ป่าตรงจุดนี้ยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ ในการเติมน้ำธรรมชาติให้กับเขื่อนป่าสักอีกด้วย” คุณสุธี กล่าว
ล่าสุด ซีพีเอฟ และกรมป่าไม้ ได้เปิดห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อต้อนรับน้องๆ รร.นานาชาติคอนคอร์เดียน พร้อมด้วยอาจารย์และผู้ปกครอง จำนวน 40 คน ร่วมกิจกรรมลงพื้นที่ เพื่อเรียนรู้วิธีการและขั้นตอนการปลูกต้นไม้แบบประณีต จำนวน 200 ต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์และความรู้ใหม่ ที่ไม่สามารถหาได้จากห้องเรียนปกติ โดยเด็กๆ ได้ทดลองทำทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยมีพี่ๆ จากกรมป่าไม้ และซีพีเอฟให้คำแนะนำ ตั้งแต่การขุดหลุมปลูกต้นไม้ วิธีการการปลูกที่เหมาะสม รวมทั้งเรียนรู้การติด Tag และการจดบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตของต้นไม้ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลในการเปรียบเทียบอัตราการเติบโตในปีถัดๆ ไป
ทั้งนี้ ต้นไม้ที่นำมาปลูกทั้ง 200 ต้น เป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน ได้รับบริจาคต้นกล้ามาจาก MQDC จำนวนทั้งหมด 4,000 ต้น และน้องๆ ชมรม Seed of Hope หรือเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง ได้ช่วยกันดูแลกล้าไม้ อนุบาลต้นกล้ามาเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้กล้าไม้แข็งแรงพอ ที่จะนำมาปลูกต่อไป ซึ่งล่าสุด ได้นำกล้าไม้ทั้งหมด บริจาคให้โครงการเขาพระยาเดินธง เพื่อนำมาปลูก เพิ่มพื้นที่สีเขียว เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้นจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
นอกจากกิจกรรมปลูกต้นไม้แล้ว น้องๆ ยังได้ทำกิจกรรมยิง Seed Ball ดินเหนียวก้อนกลม มีเมล็ดพันธุ์ไม้อยู่ภายใน มาจากการผสมปุ๋ยหมัก หรือดินดำปลูกต้นไม้ที่ผสมปุ๋ยแล้ว นำมาปั้นเป็นก้อนพอเหมาะ สำหรับใช้เป็นลูกกระสุนในการยิงไปตามพื้นที่ต่างๆ ในป่า เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดตามธรรมชาติได้ด้วย โดยกิจกรรมต่างๆ ในครั้งนี้ สะท้อนได้ถึงมุมมองและจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ที่พร้อมเติบโตและร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
และนี่คือส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนจากน้องๆ ที่ได้เข้ามาร่วมกิจกกรมในครั้งนี้
“สิรินยา หิรัญวิริยะ” หรือ น้องปาล์มมี่ ประธานชมรม Seed of Hope กำลังศึกษาอยู่เกรด 11 เล่าว่า วันนี้ มากับเพื่อนๆ เพื่อร่วมกันปลูกต้นไม้ที่เขาพระยาเดินธง 200 ต้น รู้สึกสนุกและประทับใจที่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ได้เรียนรู้วิธีการปลูกป่าที่ถูกต้อง อยากเชิญชวนทุกๆคนมาร่วมกันปลูกป่า เรามีปัญหาโลกร้อน ป่าไม้ถูกตัดไป การปลูกป่าก็เป็นส่วนที่ช่วยดูดคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน
ด้าน “รมิตา ศรีอัษฎาวุธกุล” น้องพราว กำลังศึกษาเกรด 9 บอกรู้สึกดีที่มีโอกาสได้มาสัมผัสธรรมชาติและได้ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ปลูกต้นไม้ไป 6-7 ต้น อยากเชิญชวนให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสแวดล้อม คนรุ่นใหม่อยู่กับเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ควรมองข้ามธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นผู้ให้เรามาตลอด การที่เรามีโอกาสมาปลูกต้นไม้ ก็เหมือนกับเป็นผู้ให้ ที่คืนกลับให้ธรรมชาติ
น้องธีร์ ลือสุขประเสริฐ เกรด 11 เป็นอีกคนหนึ่งที่ เชิญชวนให้มาช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มากกว่านี้ เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยธรรมชาติและช่วยโลกให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับ น้องทญา สุขสันต์ปานเทพ หรือ น้องมิ้ม เกรด 11 ที่บอกว่า ได้มาทำกิจกรรมปลูกป่าในวันนี้ เป็นการเปิดประสบการณ์ เพราะช่วงโควิดก็ไม่ได้ออกไปไหน การที่เรามาปลูกป่าก็ช่วยโลก อยากให้เพื่อนๆมาร่วมกิจกรรม เราได้เข้าใจธรรมชาติ ช่วยป่า ช่วยโลก น้องมิ้มเล่าด้วยว่า โรงเรียนสนับสนุนนักเรียนให้ทำกิจกรรม โดยมีการจัดตั้งชมรมต่างๆ และเธอเป็นสมาชิกของชมรม Seed of Hope ที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องต้นไม้เช่นกัน เพื่อที่จะหารายได้ไปใช้ในเรื่องของการปลูกป่า
อาชว์พัชร์ อัศวเทววิช น้องเซน เกรด 9 เล่าประสบการณ์ลงพื้นที่ครั้งนี้ว่า มีโอกาสมาปลูกป่าที่เขาพระยาเดินธง เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ฟื้นฟูธรรมชาติ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสมาปลูกป่า ช่วยเหลือโลกทางอ้อม เราอาจทำลายป่าไปเยอะ วันนี้รู้สึกดีที่ได้มาช่วยเหลือโลก