บริษัทที่ปรึกษา Bain & Co ทำแบบสำรวจกับผู้บริโภคกว่า 16,000 คน จาก 11 ประเทศ ในหมวดหมู่สินค้ากว่า 7 ชนิด และพบว่าผู้บริโภคในแถบเอเชียแปซิฟิกกว่า 90% เต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อซื้อสินค้าที่ยั่งยืน แต่น่าเสียดายว่าข้อมูลและสินค้าในตลาดที่ไม่เพียงพอ ทำให้พวกเขาซื้อสินค้าได้ไม่เต็มที่ต่อความต้องการ
ทั้งนี้ 14% ของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกและยุโรป และกว่า 8% ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา มีความสนใจประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยส่วนใหญ่มีมุมมองว่า สินค้าที่ยั่งยืนจะเป็นเส้นทางนำไปสู่วิถีชีวิตที่ทำให้สุขภาพดีขึ้น โดยพบว่า 51% ของผู้บริโภคในแถบเอเชียแปซิฟิกยังเป็นผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสุขภาพ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้บริโภคในยุโรปที่มีอัตรา 27% และสหรัฐอเมริกา 31%
ขณะที่ผู้ค้าปลีกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทข้ามชาติอย่าง Unilever และ L’Oreal หรือจะเป็นสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลทั้งหลาย ต่างกำลังเร่งศึกษาและวิจัยว่า การที่ผู้บริโภครับรู้และเข้าใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นนั้น จะส่งผลต่อธุรกิจและแบรนด์ของพวกเขาอย่างไรได้บ้าง และกลายเป็นโอกาสที่เอื้อต่อกระแสการช้อปปิ้งแบบยั่งยืนในอนาคตมากขึ้น
Bain ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคจากตลาดที่พัฒนารวดเร็วอย่าง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามนั้น ล้วนตระหนักถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากกว่าผู้ที่อยู่ในตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้คือ คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจะเห็นผลกระทบของปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรง และรู้ว่าภัยเหล่านี้เป็นจริงและจับต้องได้
สิ่งที่น่าสนใจคือ แบรนด์ใหม่ ๆ จำนวนมากในทวีปเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลกทุกวันนี้ถือกำเนิดโดยใช้ความยั่งยืนเป็นแกนหลัก แนวคิด ESG กลายมาเป็นจุดประสงค์สำคัญของแบรนด์ และแบรนด์ที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของนักช้อปที่อยากได้สินค้าที่ยั่งยืนมากขึ้นให้กลายเป็นจริงได้ จะทำให้แบรนด์ของตัวเองเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า 1 ใน 10 ของผู้บริโภค มีมุมมองว่า สินค้าในตลาดมีไม่มากพอ ทำให้กลายเป็นอุปสรรคในการซื้อสินค้าที่ยั่งยืน นอกจากนี้ 15% ของผู้บริโภคที่ทำแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขาจะไม่ซื้อสินค้าที่ยั่งยืนแพราะตนเองยังขาดข้อมูลหรือยังไม่ไว้ใจต่อตัวแบรนด์
Zara Lightowler พาร์ทเนอร์ของบริษัทที่ปรึกษา Bain และหนึ่งในผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า “การช้อปปิ้งแบบยั่งยืนในอนาคตดูมีความหวังขึ้นมาก แต่สิ่งที่สำคัญคือ แบรนด์ต้องทำให้ข้อมูลเป็นเรื่องเข้าใจง่าย เพราะปัญหาขึ้นอยู่กับว่า ผู้บริโภคที่ให้ความสนใจจะซื้อสินค้าจริงหรือไม่ และแบรนด์ต่างๆ จะทำให้ตนเองมีความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าได้อย่างไร” Lightowler กล่าว
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ กำลังเร่งมือเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ B2C ของอาลีบาบาอย่างทีมอลล์ได้นำร่องติดป้ายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้เห็นผลกระทบจากการซื้อของของตัวเองที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและตัดสินใจซื้อกับตัวเลือกที่ยั่งยืน พร้อมทั้งได้จัดอันดับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไปมากกว่า 300,000 รายการ จากผู้ค้าหลายพันราย โดยใช้ปริมาณการใช้พลังงานเป็นเกณฑ์ตัดสิน และจะทยอยเพิ่มในสินค้าประเภทอื่น ๆ ในหน้าแสดงสินค้า ซึ่งป้ายจะแสดงตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผู้ซื้อสามารถช่วยลดลงได้หากใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ทั่วไป ทำให้อาลีบาบากลายเป็นบริษัทจีนแห่งแรกที่ปรับใช้แนวทางดังกล่าวบนแพลตฟอร์มของตัวเอง นอกจากนี้ ในประเทศจีน การไลฟ์เกี่ยวกับสินค้าและแพ็กเกจจิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นก็กำลังเป็นกระแสเลยทีเดียว
“เราต้องการให้ผู้บริโภครู้ถึงผลกระทบจากการตัดสินใจซื้อของพวกเขา และผลักดันให้พวกเขาเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ซุน หยาน หัวหน้าฝ่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ESG สำหรับผู้บริโภค จากทีมการค้าดิจิทัลจีนของอาลีบาบากล่าว
ข้อมูล / ภาพ : อาลีบาบา