โครงการอัพไซคลิ่งของสายการบิน ANA (All Nippon Airways) ของญี่ปุ่น นำชุดจั๊มสูทเก่า ซึ่งเป็นยูนิฟอร์มของช่างเครื่องและช่างซ่อมบำรุงเครื่องบินมาผลิตเป็นกระเป๋าแฮนด์เมดหลากหลายรูปแบบ เพื่อต่อยอดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีชุดทำงานเก่าของช่างซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ถูกทิ้งราว 300 ชุด จากจำนวนช่างของสายการบินที่มีอยู่ประมาณ 3,000 คน ที่คอยทำหน้าที่สนับสนุนปฏิบัติการทางการบินของ ANA เพื่อคอยตรวจตราสภาพเครื่องบินก่อนออกและหลังเดินทาง เพื่อช่วยให้ผู้โดยสารไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
การทำงานอย่างหนักของช่างซ่อมเครื่องบิน ทำให้บางครั้งชุดที่สวมใส่อยู่เกิดขาดชำรุด ทำให้ชุดทำงานจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้งานแล้วถูกทิ้ง ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นระบุว่า มีเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่มีการนำไปรีไซเคิล
คุณฮิเดยะ ทาคาฮาชิ เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงอาวุโส จากศูนย์วิศวกรรมและการบํารุงรักษา ANA ผู้เสนอแนวคิดการนำชุดเก่ามารีไซเคิลเป็นกระเป๋า เพราะมองว่าอยากให้ชุดทำงานสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าแค่การทิ้งไปเฉยๆ โดยเฉพาะการนำผ้าจากชุดไปใช้ใหม่ ขณะที่ธุรกิจการบินถูกจับตามองอย่างมากในประเด็นเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และในฐานะพนักงานก็อยากมมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้
ช่างเครื่องและเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงของ ANA จะสวมชุดเอี๊ยมจั๊มสูทสีน้ำเงินอ่อน ที่ตัดเย็บด้วยวัสดุที่แข็งแรงและมีความทนทานสูง รวมทั้งยังมีกระเป๋าหลายช่องสำหรับใส่เครื่องมือต่างๆ ขณะปฏิบัติงาน ซึ่งเหมาะสำหรับนำมาทำเป็นกระเป๋าหลากหลายรูปแบบ ทั้งกระเป๋าหิ้วขนาดเล็ก กระเป๋าหิ้วขนาดใหญ่ กระเป๋าผ้า PC และกระเป๋าสะพายแบบซาโคเช่ (Sacoche) โดยการตัดเย็บกระเป๋าเหล่านี้เป็นแบบแฮนด์เมดโดยช่างฝีมือ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ANA WING FELLOWS VIE OJI Co., Ltd. และ ROOTOTE แบรนด์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระเป๋าหิ้ว เพื่อให้ต่อยอดฟังก์ชันที่อยู่ในจั๊มสูทมาไว้บนกระเป๋าให้มากที่สุด โดยเฉพาะการรักษาเอกลักษณ์ของโลโก้ ANA ให้ยังคงมีความโดดเด่นอยู่
นอกจากชุดจั๊มสูทเก่าชองช่างซ่อมบำรุงแล้ว ทางสายการบินยังมีแผนที่จะนำเสื้อชูชีพที่หมดอายุแล้วมาผลิตเป็นกระเป๋าใบเล็กๆ สำหรับใส่สิ่งของต่างๆ เพิ่มเติมด้วยเช่นเดียวกัน