กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) และบริษัทในเครือ ตอกย้ำความเป็นผู้นำภาคการเงินด้านความยั่งยืนบนวิสัยทัศน์ ‘The most sustainable commercial bank in Thailand’ ต่อยอดโครงการ Krungsri Zero Waste วาง 3 โรดแม็พสำคัญด้านความยั่งยืน พร้อมภารกิจขับเคลื่อน Race to Net Zero หวังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ (Net Zero Emissions) ช่วยลดผลกระทบเชิงลบต่อโลกและประชาคมโลกอย่างมีนัยสำคัญ
นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารวางวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนด้วยเป้าหมายในการมุ่งสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย พร้อมทั้งได้ขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ Krungsri Zero Waste มาตั้งแต่ปี 2561 นำร่องที่สำนักงานใหญ่ พระราม 3 ด้วยการลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งสามารถประสบความสำเร็จในการชดเชยคาร์บอน ก่อนจะขยายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนโครงการด้านความยั่งยืน รวมทั้งขยายผลภายในสำนักงานใหญ่ ด้วยการลดปริมาณขยะเศษอาหารให้เป็นศูนย์ ในปี 2563 ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 8.64 ล้านkgCO2e และความเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนของภาคธนาคารรวมถึงการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ ESG
ทั้งนี้ ธนาคารได้วางแนวทางต่อยอดการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ผ่านภารกิจ Krungsri’s Race to Net Zero เพื่อขับเคลื่อนผ่าน 3 มิติ ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจก และ การชดเชยคาร์บอน เพื่อเร่งการลดการปล่อยคาร์บอนที่ชัดเจนและปฏิบัติได้จริง และยังสอดคล้องเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย รวมท้ังการขยายผลความยั่งยืนให้เกิดขึ้นตลอดทั้งอีโคซิสเต็ม โดยได้โรดแม็พเพื่อต่อยอดด้านความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรี ได้วางเป้าหมายสำคัญไว้ใน 3 ระยะ ต่อไปนี้
– ปี 2565 ลดขยะ RDF สู่บ่อฝังเป็นศูนย์ (Zero RDF) เพื่อไม่ให้มีขยะ RDF จากกรุงศรีสู่บ่อฝังกลบ
– ปี 2573 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทางธุรกิจของธนาคารให้เหลือศูนย์
– ปี 2593 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบริการทางการเงินทั้งหมด
โดยเฉพาะเป้าหมายแรกในสิ้นปี 2565 นี้คือ การลดขยะ RDF (Refuse-Derived Fuel) หรือขยะกำพร้า หมายถึงขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือขยะที่ส่วนกลางน้ำต่างๆ อาทิ ซาเล้ง หรือบริษัทรับซื้อขยะต่างๆ ไม่รับซื้อ ทำให้ต้องนำไปเผาทำลายเพียงอย่างเดียว ซึ่งทางกรุงศรีตั้งเป้าจะลดขยะประเภทนี้ให้เหลือไปสู่บ่อฝังกลบเป็นศูนย์ แต่จะนำส่งให้บริษัทพันธมิตรเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตซีเมนต์ทั้งหมด พร้อมทั้งจะขยายแนวคิดนี้สู่วงกว้างด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรชั้นนำระดับประเทศที่ตั้งอยู่บนถนนเพลิตจิตเป็นลำดับแรก เพื่อร่วมรณรงค์ลดขยะ RDF ในปี 2566
“ธนาคารให้ความสำคัญในการผนวกมิติด้าน ESG เข้ากับการดำเนินงานของธนาคาร ทั้งการวางกลยุทธ์ นโยบาย และเป้าหมายทางธุรกิจ รวมทั้งการเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนผู้มีส่วนได้เสีย หรือการเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน ผ่านการพัฒนากฏระเบียบ หรือนโยบายการให้สินเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะเป้าหมายด้าน Carbon Neutral ทั้งของธนาคารเองภายในปี 2573 และในระบบภาคการเงินทั้งหมดภายในปี 2593 เพื่อสนับสนุนทางการเงินใก้แก่โครงการธุรกิจเพื่อความยั่งยืนต่างๆ หรือในทางกลับกัน คือ หลีกเลี่ยงการให้สินเชื่อในธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อต้องการส่งเสริมการพัฒนาตลาดการเงินที่ยั่งยืนให้เกิดเป็นการเงินสีเขียวในประเทศไทย โดยการเติบโตช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนต่างๆ หรือ Sustainability Bond หรือ Green Bond ของประเทศไทยเติบโตได้หลายเท่าตัว จาก 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2018 ที่เริ่มมีการให้สินเชื่อประเภทนี้เป็นครั้งแรก มาเป็น 6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มได้ถึง 1 แสนล้านบาทได้ในอนาคต ทั้งจากความสนใจในการขับเคลื่อนโครงการด้านความยั่งยืนต่างๆ ของภาคเอกชน และความสนใจของนักลงทุนที่อยากลงทุนในโครงการเพื่อความยั่งยืนต่างๆ เช่นเดียวกับสินเชื่อธุรกิจด้านความยั่งยืนของทางกรุงศรี ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 2% หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาทของสินเชื่อธุรกิจโดยรวม โดยคาดว่า จะเพิ่มสัดส่วนได้เป็น 10-15% หรือมียอดการให้สินเชื่อในกลุ่ม พลังงานทดแทน และธุรกิจด้านความยั่งยืนอื่นๆ ภายใต้วงเงินราว 5 หมื่น -1 แสนล้านบาท”
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกรุงศรียังเป็นสมาชิกตั้งต้นของ Carbon Markets Club และสมาชิกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) รวมถึงการเป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ที่มีวิสัยทัศน์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Declaration) เช่นกัน