ปัจจุบันขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งประเทศไทยวาง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทั้งทางบกและทะเลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเป้าหมายสูงสุด คือ “ขยะ” ต้องไม่ใช่ “ขยะ” เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกเล็ดลอดสู่ธรรมชาติ โดยเน้นจัดการจากต้นทาง สร้างมูลค่าในห่วงโซ่การจัดการพลาสติก และประชาชนต้องให้ความร่วมมือเริ่มต้นที่ใช้ให้น้อยที่สุด ทิ้งให้ถูกที่ กำจัดอย่างถูกวิธี คัดแยก และนำไปใช้ประโยชน์ในได้มากที่สุดเพื่อให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในงานแถลงผลงานและบทบาท PPP Plastics ร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทยว่า ปัญหาเรื่องการจัดการขยะพลาสติกให้เป็นไปตามโรดแม็พ โดยเฉพาะเป้าหมายการนำขยะพลาสติก กลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อการขับเคลื่อน Circular Economy ให้ได้ทั้ง 100% ภายในปี 2570 ยังเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างท้าทายเป็นอย่างมาก ขณะที่ปริมาณขยะพลาสติกของประเทศไทยในปี 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่ราว 2.76 ล้านตัน แต่สัดส่วนมีการนำกลับไปใช้ประโยชน์เพียง 20% ส่วนที่เหลืออีก 77% ถูกทิ้งรวมเพื่อนำไปกำจัดกับขยะทั่วไป และ 3% ไม่ได้รับการจัดการ ทำให้มีการหลุดลอดออกนอกระบบ และตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในทะเล
โดยเฉพาะตามการขับเคลื่อนโรดแม็พในระยะที่ 2 ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2565 นี้ ซึ่งกำหนดให้มีการยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง (น้อยกว่า 36 ไมครอน) หรือ “ถุงก๊อปแก๊ป” แบบที่เราคุ้นเคย กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง (น้อยกว่า 100 ไมครอน) และหลอดพลาสติก ยอมรับว่าคงไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย อาจจะต้องมีการขยายกรอบระยะเวลา รวมทั้งพยายามหาวิธีพัฒนาระบบในการนำพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการ Circular อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด การบริหารจัดการเรื่องการลดปริมาณการใช้งานพลาสติกแบบ Single-use มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี จากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่รับนโยบายไปขับเคลื่อนต่อ แต่หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ปริมาณการใช้งานพลาสติกกลับมาเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15% ต่อคน ซึ่งยอมรับว่าพลาสติกยังเป็นความจำเป็นที่ต้องมีการใช้งานอยู่ แต่ภาพรวมการขับเคลื่อนอยู่ในทิศทางที่ดี มีการลดปริมาณการใช้หลอดลง การใช้พลาสติกที่บางลง รวมทั้งการใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารที่ลดลงถึง 70% แต่ภาพรวมก็ยังถือว่ามีปริมาณมากอยู่ เนื่องจาก ปัญหาในหลายๆ ปัจจัย โดยเฉพาะต้นทุนที่ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการรายย่อยมองว่า เป็นการผลักภาระมาให้ผู้บริโภค ซึ่งจำเป็นที่คนไทยต้องปรับทัศนคคติ และพฤติกรรมในการลดการใช้พลาสติกและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมว่าเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อร่วมกันดูแลและคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น”
ทั้งนี้ กลไกสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อน Circular Economy เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ การเชื่อมโยงทั้ง Ecosystem เข้าด้วยกัน ทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้งาน ผู้บริโภค ผู้คัดแยก และผู้กำจัด รวมทั้งต้องสร้างทั้งคุณค่า และความคุ้มค่า หรือเพิ่มแรงจูงใจ ให้ทุกคนเห็นความสำคัญในการคัดแยกและนำขยะเข้าสู่ระบบ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการหมุนเวียนได้จริงๆ และจะต้องหมุนได้อย่างต่อเนื่องหลายๆ รอบมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีขยะพลาสติกหลุดลอดออกไปนอกระบบ ส่งปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันยังมีหลายๆ ปัญหา เช่น ธุรกิจรับซื้อขยะเลือกที่จะส่งวัตถุดิบส่งไปต่างประเทศมากกว่าส่งเข้าระบบในประเทศ เนื่องจาก ราคารับซื้อที่ดีกว่า หรือแม้แต่การจัดระเบียบ รวมทั้งให้ความรู้เรื่องกาารคัดแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ให้กับกลุ่มซาเล้ง ที่มีมากกว่าหมื่นคัน หรือรวมผู้ที่อยู่ในระบบธุรกิจรับซื้อขยะตามบ้านจะมีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนเลยทีเดียว
“กลุ่มซาเล้ง หรือธุรกิจรับซื้อขยะตามบ้าน ถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิด Circular Economy ที่แท้จริง แต่การรับรอง หรือการสนับสนุนธุรกิจนี้ยังไม่ชัดเจน ภาพที่ควรจะเป็นคือ ทุกชุมชน หรือทุกหมู่บ้าน ควรมีซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า หรือพื้นที่ในการบริหารจัดการขยะ หรือแยกขยะได้ เช่นเดียวกับการมีที่ทำการไปรษณีย์อยู่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกบ้านแยกขยะ และสามารถนำขยะที่แยกไปส่งหรือจำหน่าย ให้คนกลางอย่างซาเล้ง หรือร้านรับซื้อของเก่าที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน และส่งต่อไปยังพื้นที่กำจัดหรือนำเข้าสู่ระบบได้อย่างสะดวก เพื่อทำให้ขยะมีค่า มีราคามากขึ้น คนก็จะทิ้งน้อยลง และป้องกันการหลุดลอดไปสู่แวดล้อมให้น้อยลงด้วย”
อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังคงติดขัดในเรื่องของข้อกฏหมายต่างๆ เช่น กฏหมายผังเมือ หรือ พรบ.ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ยังไม่สามารถรองรับการจัดตั้งโรงงานกำจัดขยะในเขตเทศบาลต่างๆ หรือในพื้นที่ชุมชนได้ ซึ่งต้องมีการพูดคุยในรายละเอียด เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาหรือขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งปัจจุบันขยะพลาสติกมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 26% ของขยะต่างๆ ที่เกิดจากชุมชน และในนี้มีเพียง 25% เท่านั้น ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แต่ส่วนใหญ่อีกกว่า 3 ใน 4 จะถูกนำไปทำลาย ทั้งการฝังกลบ การเผา และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบางส่วนที่หลุดลอดออกมายังสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีข้อมูลศึกษาเผยแพร่ยืนยันออกมาแล้วว่ามีการพบไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกายมนุษย์ด้วยเช่นกัน