ผู้บริโภคญี่ปุ่นสนใจ SDG เพิ่ม 3 เท่า ใน 2 ปี มากกว่าครึ่งเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืน

ความสนใจของผู้บริโภคต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ หรือ SDG (Sustainable Development Goals) โดยองค์การสหประชาชาติ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคญี่ปุ่น

จากข้อมูลการสำรวจของบริษัทวิจัย INTAGE  เกี่ยวกับอัตราความตระหนักรู้ถึง SDG ในญี่ปุ่น (SDGs Awareness in JAPAN) พบว่า ความสนใจในหมู่ผู้บริโภคญี่ปุ่นเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG (Sustainable Development Goals) เพิ่มขึ้น 3 เท่า ใน 2 ปี ​โดยผู้บริโภคไม่เพียงให้ความสำคัญกับพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มเลือกใช้สินค้าจากแบรนด์ที่ให้ความสำคัญต่อนโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจด้วย

โดย​ INTAGE ได้ทำการสำรวจความตระหนักรู้เกี่ยวกับ SDGs ในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2563 – 2565 จากกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคญี่ปุ่น​ 2,000 – 3,000 คน พบว่า ช่วงเดือนมกราคม 2565 ผู้บริโภคญี่ปุ่นมากกว่าครึ่งมีความเข้าใจและรู้รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนถึง 52.1% แต่หากรวมกับกลุ่มที่เคยรับรู้แต่ยังไม่ทราบในรายละเอียด จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 79.8% เมื่อเทียบกับการสำรวจในเดือนมกราคม 2563 การรับรู้จะอยู่ในระดับ 27.8%

Credit: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

เท่ากับว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นให้ความสนใจประเด็นนี้เพิ่มมากขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงอายุ  30-59 ปี มีความสนใจเพิ่มมากขึ้นสูงสุด และเกินกว่าครึ่งของคนในกลุ่มนี้ มีการเลือกใช้สินค้าจากบริษัทที่มีนโยบายเกี่ยวกับ SDG มาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจ

ผลสำรวจดังกล่าว ยังมีรายละเอียดประเด็นที่กลุ่มผู้บริโภคในญี่ปุ่นมองว่า ควรให้ความสำคัญสูงสุดอันดับแรก คือ​ การเร่งแก้ปัญหาความยากจนให้หมดไป​ จำนวน 27.4% จากเดิมอยู่ในอันดับ 4 และขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ในปี 2564 ขณะที่วิกฤติโควิด 19 ที่เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก ทำให้มีผู้ประสบปัญหาด้านการเงินเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุผลสำคัญให้ปัญหาเรื่องการแก้ไขความยากจนได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเป็นอันดับ 1 ในปีนี้  ตามมาด้วยประเด็นในเรื่องการดูแลสุขภาพและมีความเป็นอยู่ที่ดี  27% และการสร้างความสงบสุข และยุติธรรม  25.7%

ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรม ในการให้ความสำคัญเลือกบริโภคสินค้าที่สนับสนุนโยบายด้าน SDG พบว่า ในเดือนธันวาคม 2564  มีผู้บริโภคที่ตระหนักในการเป็น​ “ผู้นำ”​ หรือ “กระตือรือร้น”​ ในการทำกิจกรรม หรือบริโภคสิ่งต่างๆ ตามแนวทาง SDG เพิ่มขึ้น 4.1% เป็น 33.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563 ที่ระดับ 29.7%

Credit: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

พร้อมพบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุสูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะ “ปฏิเสธการรับของที่ไม่จำเป็น เช่น ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้ง ช้อนส้อมพลาสติก เป็นต้น” หรือ “เลือกอาหารที่ไม่ใช้สารปรุงแต่ง หรือมีส่วนของสารถนอมอาหาร” เพิ่มมากขึ้นไปด้วย โดยผู้บริโภคกว่าครึ่ง หรือ 53.2% ที่รู้จัก SDG จากการสำรวจยังมีแนวคิดต้องการสนับสนุนบริษัทที่นำ SDG มาประยุกต์ใช้อีกด้วย บริษัทญี่ปุ่นทั้งรายย่อย และรายใหญ่ให้ความสำคัญในการนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ กัน มากในปัจจุบัน

ขณะที่มีความตื่นตัวและการ Take Action ด้านความยั่งยืนในญี่ปุ่นอย่างมาก อาทิ  การผลักดันกฎหมายลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา หรือจะบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ หรือเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อมมากขึ้น และจากผลการสำรวจของบริษัท INTAGE ทำให้เห็นตัวเลขที่สอดคล้องกับแนวโน้มที่ว่านี้ ถึงการตื่นตัวของผู้ผลิต และผู้บริโภคที่จะมีต่อไปอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกัน

ข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ

 

Stay Connected
Latest News