Superworms จอมเขมือบ​ อีกหนึ่งความหวังสำหรับการลดขยะพลาสติกและแวดวงรีไซเคิล

สร้างเสียงฮือฮาในวงการวิทยาศาสตร์ได้อีกครั้ง เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ได้ค้นพบว่า หนอนโซโฟบัส โมริโอ (Zophobas morio) หรือที่คุ้นเคยกันในอีกชื่อหนึ่งว่า Superworm ซึ่งเป็นตัวอ่อนของด้วง สามารถมีชีวิตรอดได้จากการกินพลาสติกชนิดพอลีสไตรีน 

โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พลาสติกสามารถถูกย่อยสลายได้ด้วยเอนไซม์ที่อยู่ในลำไส้ของเจ้า Superworm เหล่านี้​ และการค้นพบครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญสำหรับการต่อยอดให้กับวงการรีไซเคิล สำหรับเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้อีกทางหนึ่งด้วย​

โดย Dr. Chris Rinke หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “Superworms เป็นเสมือนโรงงานรีไซเคิลขนาดจิ๋ว กัดกินพลาสติกพอลีสไตรีนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยด้วยปาก และก็ส่งต่อไปยังแบคทีเรียในลำไส้”

นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองด้วยการแบ่ง Superworm ออกเป็น 3 กลุ่ม และให้อาหารต่างกัน ตลอดระยะเวลา 3 สัปดาห์ โดยพบว่า กลุ่ม Superworm ที่เลี้ยงด้วยพลาสติกพอลีสไตรีน มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังพบด้วยว่าในลำไส้ Superworm เหล่านี้มีเอนไซม์หลายชนิดที่มีความสามารถในการย่อยพอลีสไตรีนและสไตรีน ซึ่งเป็นพลาสติกที่พบได้ทั่วไปในบรรจุภัณฑ์อาหารแบบ takeaway วัตถุที่ทำเป็นฉนวน และอะไหล่รถยนต์ โดยทางทีมวิจัยหวังที่จะหาคำตอบให้ได้ว่า เอนไซม์ชนิดไหนที่มีศักยภาพมากที่สุดในการย่อยสลายพลาสติกทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อนำไปต่อยอดสำหรับการดำเนินการด้านรีไซเคิล ที่มีการขยายสเกลให้ใหญ่มากขึ้นต่อไป

ภาพ https://www.bbc.com/

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับ Superworm ที่สามารถกินพอลีสไตรีนมาแล้ว  (อ่านต่อ) แต่สำหรับการศึกษาครั้งนี้ Professor Jackson กล่าว่า “เป็นการทำความเข้าใจว่าแบคทีเรียในลำไส้ Superworm ย่อยพอลีสไตรีนในระดับโมเลกุลได้อย่างไร เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำความรู้นี้ไปต่อยอดสำหรับใช้ในกระบวนการรีไซเคิลต่อไปนั่นเอง”

อย่างไรก็ดี นักวิจัยหลายคนในระดับสากลประสบความสำเร็จในการใช้แบคทีเรียกับเชื้อราในการย่อยสลายพลาสติกมาแล้ว  

เราคงต้องเอาใจช่วยทีมนักวิทยาศาสตร์ในการหาคำตอบเรื่องเอนไซม์จาก Superworm ให้ได้ เพื่อที่พลาสติกพอลีสไตรีนจะได้เข้าสู่ระบบรีไซเคิลมากขึ้น และลดปัญหาขยะพลาสติกที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

source

Stay Connected
Latest News