ถ้าปากท้องยังไม่อิ่ม สิ่งแวดล้อมดีไม่ได้? กะเทาะแนวคิด ‘เศรษฐกิจ’ กับ ‘สิ่งแวดล้อม’ กับการเติบโตที่ต้องสวนทางกัน

หลายคนมีมุมมองว่าการเติบโตระหว่างเศรษฐกิจ และการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นเรื่องสวนทางกัน เหมือนความสัมพันธ์แบบ Strength of relationship ที่ 2 ตัวแปรมีความผกผันแบบที่ต้องเลือก เช่น บางประเทศที่ต้องการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต ก็ต้องแลกมาด้วยความทรุดโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือระดับมลพิษในประเทศที่สูง

ขณะที่ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด -19 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจชะลอทั่วโลก จากผลกระทบของการล็อกดาวน์ แต่ในทางกลับกัน เราคงเคยได้เห็นการรายงานข่าว หรือภาพธรรมชาติในหลายๆ  แห่งมีการฟื้นฟูตัวเอง เริ่มเห็นเต่าทะเลกลับมา ความสมบูรณ์ของสถานที่ตามธรรมชาติเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งเป็นการมาตอกย้ำแนวคิดข้างต้นให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นไปอีก จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ ที่ต้องร่วมกันขบคิด พร้อมช่วยกันหาโซลูชันส์ว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ทั้งสองแกนที่สำคัญนี้ สามารถเติบโตอย่างส่งเสริมกัน หรือเติบโตไปได้อย่างควบคู่กัน

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่ไม่สามารถปฏิเสธได้คือ การกระทำของมนุษย์ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและธรรมชาติโดยตรง ขณะที่เราเองก็ไม่สามารถแยกเรื่องของสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจออกจากกันได้ เพราะทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กัน และต่างเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของเราทุกคน ที่สุดแล้วทั้ง 2 เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องเดียวกัน และไม่สามารถแยกคิดแค่มิติใดมิติหนึ่งได้ แต่ต้องเชื่อมทั้ง 2 เรื่องนี้ เข้าหากันและขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

ผศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวผ่านสถานีวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz ในหัวข้อ ปัญหาสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจ ไว้ว่า ในช่วงเริ่มต้นของทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ทั้ง 2 เรื่อง ยังเป็นคนละมิติ ไม่ได้เชื่อมโยงถึงกัน ผู้ขับเคลื่อนทางเศรษฐศาสตร์เอง ก็จะไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อส่ิงแวดล้อม เพราะย้อนกลับไปเมื่อราวๆ กว่า 200 ปีที่ผ่านมา เรื่องของเศรษฐศาสตร์ ยังเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ว่ามองอย่างไรก็ไม่สามารถสร้างผลกระทบอะไรที่จะส่งผลต่อธรรมชาติที่มีความยิ่งใหญ่กว่ามากได้แม้แต่น้อย

ขณะที่การผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นใน ทุกๆ ปี จนกระทั่งเติบโตขึ้นมาส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ปัญหาเรื่องโลกร้อน เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกลายมาเป็นวาระสำคัญของโลกเช่นปัจจุบัน และได้รับการยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์แล้วว่า ผลกระทบต่างๆ ต่อโลก มีสาเหตุมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เป็นสำคัญ ซึ่งก็คือ กิจกรรมทางระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระบวนการในการผลิตและการบริโภค ที่เป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก และเป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอยู่นี่เอง

การนำกระบวนการคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์มาใช้ เพื่อแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมหรือโลกร้อน จึงต้องเริ่มจากการประเมินถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขว่าสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง และเลือกแนวทางที่จะส่งผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากร หรือต้นทุนให้ต่ำที่สุด รวมทั้งการมองให้สอดคล้องกับพฤติกรรมมนุษย์เป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังพบว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยขณะนี้ ยังไม่ได้รวมต้นทุนในมิติที่การผลิตและการบริโภคสินค้าต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้างเข้าไปด้วย ทำให้การบริโภคของผู้คนในปัจจุบันอาจจะยังไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงที่ผู้บริโภคต้องจ่าย โดยเฉพาะการต้องใช้งบประมาณกลับมาเยียวยาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคตภายภาคหน้า แต่หากสามารถสะท้อนต้นทุนต่างๆ ได้ใกล้เคียงมากขึ้น อาจจะทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค มีการคิดและไตร่ตรองในการผลิต และการบริโภคได้อย่างระมัดระวังเพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่านี้


เน้นปากท้องให้อิ่มก่อน สิ่งแวดล้อมเอาไว้ทีหลัง

ส่วนความเชื่อว่า หากคนในประเทศยังมีปัญหาเรื่องปากท้อง เช่น ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามปัญหาในเรื่องปากท้องไปได้  จะมีปัญหาในการส่งเสริมให้ผู้คนหันมามีแนวคิดในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้ยากนั้น ผศ.ดร.ขนิษฐา มีความเห็นว่า

ในปัจจุบันนี้เราขับเคลื่อนมาถึงจุดที่สามารถสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ทั้งจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีพอ และมีแนวทางในการพัฒนาที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อในการขับเคลื่อน Green Economy หรือ Sustainable Development เราสามารถสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น  ขณะเดียวกันก็สามารถทำควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนา  เพราะนี่คือ ทิศทางของโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากเศรษฐกิจ หลังการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้หลายรัฐบาลทั่วโลกต้องนำเงินไปอุดหนุนและเยียวยาในเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ  ภายใต้แนวทาง Green Recovery หรือการวางแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาดีเป็นปกติ โดยคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น รัฐบาลในฐานะผู้ให้เงินอุดหนุนก็สามารถเป็นผู้กำหนดทิศทาง รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ที่นำมาซึ่งการจ้างงานใหม่ๆ  ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้โดยที่ยังคงสามารถดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันได้ด้วย

ขณะที่ คุณพรหพรม วิกิตเศรษฐ์ หนึ่งในคณะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะทีมดูแลนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมดีกล่าวในกิจกรรม Ecotopia Hears You x Environman ถึงการก้าวข้ามความเชื่อที่ว่าเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไม่สามารถเติบโตอย่างควบคู่กันไปแบบคู่ขนานได้ โดยการทำงานร่วมกันของ กทม. จะให้ความสำคัญในการเชื่อมมิติของเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อมให้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน

โดยเฉพาะการเข้าไปส่งเสริมให้กลุ่มคนที่ยังไม่เคยมีแนวคิดในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม หันมาให้ความใส่ใจและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเชื่อมโยงเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ หรือความเป็นอยู่ท่ีดีขึ้น มาเป็นแรงจูงใจในการทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่สามารถต่อยอดจากการแยกขยะได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเองและสังคม หรือการรณรงค์ให้หันมาใช้พลังงานโซลาร์ ซึ่งในอนาคตอาจจะกลายเป็น Passive Income ให้กับผู้ติดตั้งได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง จากการขายไฟที่สร้างได้จากการเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้กับบริษัทไฟฟ้าต่างๆ ได้ เป็นต้น

รวมไปถึงการเชื่อมโยงเรื่อสิ่งแวดล้อมเข้ากับการให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้ภาพลักษณ์ มุมมอง หรือไลฟ์สไตล์ในเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทำแล้วเท่ห์ เป็นเทรนด์ที่ทุกคนยอมรับและอยากที่จะขับเคลื่อน เช่น นโยบายของ กทม. ในการส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่งนอกจากดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้คนในครอบครัวมาเริ่มทำกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่แค่การปลูก แต่มีการติดตามการเติบโตของแต่ละต้นด้วย หรือการเซ็ตวันหยุดอย่างวันอาทิตย์ มาเป็นวันของการปลูกต้นไม้ ที่อาจจะขับเคลื่อนจากชุมชน หรือเป็นกิจกรรมของครอบครัว เพื่อให้มุมมองในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สนุกสำหรับทุกคนได้ด้วย

Stay Connected
Latest News