เนื่องในวันมหาสมุทรโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน ตัวแทนเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน 23 จังหวัด ล่องเรือประมงมายังรัฐสภาไทยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้พิจารณาสอบสวนการประกาศข้อกำหนดและบังคับใช้กฎหมายการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ภายใต้ชื่อกิจกรรม #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู โดยชาวประมงพื้นบ้านเดินทางจากจังหวัดปัตตานี ผ่านอ่าวไทยและแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างทางได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้สังคมเข้าใจปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายทวงคืนน้ำพริกปลาทู ล่องเรือจอดหน้ารัฐสภาไทย และ ยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังเดินทางกว่า 14 วัน รวมระยะทางราวหนึ่งพันกิโลเมตร เรียกร้องภาครัฐออกมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน แก้วิกฤตทรัพยากรประมง
สำหรับทรัพยากรประมงไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปลาทูมีผลผลิตลดลงเกือบ 6 เท่า เมื่อเทียบปี 2557 และ 2562 ขณะเดียวกัน ตัวเลขการจับปลาเป็ดกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านและองค์กรภาคประชาสังคม จึงได้รณรงค์เลิก ซื้อ-จับ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน แต่ภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการควบคุมดูแลกลับยังไม่มีมาตรการควบคุมอย่างจริงจัง
คุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า “อาหารทะเลซึ่งควรเป็นอาหารที่คนไทยทุกคนควรเข้าถึงได้ง่าย แต่กลับแพงขึ้น เข้าถึงได้ยากขึ้น กลุ่มคนที่ถึงอาหารทะเลคุณภาพดีมีน้อยลง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทะเลไทยเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนไทยมาเป็นเวลานาน เราตั้งใจเดินทางมาครั้งนี้ ระยะทางกว่าพันกิโลเมตร กินเวลาเป็นสิบๆวัน เพื่อให้สังคมเข้าใจว่าวิกฤตครั้งนี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะจากภาครัฐซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการออกมาตรการและบังคับใช้กฎหมาย”
ด้าน คุณณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ ผู้ประสานงานโครงการทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ผู้บริโภคมีพลังอย่างมากในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมาหลังกรีนพีซ ประเทศไทยได้ปล่อยแพลตฟอร์มสัตว์น้ำวัยอ่อน หรือ Juvenile Fish 2022 จากข้อมูลทำให้เรารู้ว่าผู้บริโภคบางส่วนมีความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกซื้ออาหารทะเลที่ยั่งยืนน้อย ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้บริโภคเองมีโอกาสน้อยมากที่จะเข้าถึงข้อมูลและเลือกอาหารทะเลที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ภาครัฐจึงมีส่วนสำคัญในการเข้ามาจัดการดูแลแก้ปัญหาจากต้นทาง โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันการทำประมงที่ไม่มีความรับผิดชอบ เพราะกุญแจในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนควรเริ่มจากการผลักดันนโยบายจากต้นทาง”