คนสร้างแบรนด์ส่วนใหญ่มักจะมองอนาคตที่เติบโตของแบรนด์ไว้ในระยะยาว ขณะที่ Saito Aki (ไซโต อากิ) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Plasticity สินค้า ECO จากญี่ปุ่น กลับตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่ปี 2019 ที่ริเริ่มธุรกิจว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า แบรนด์ของตัวเองอาจจะต้องหายไปแล้ว เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำสินค้า อย่างพลาสติกจากร่มไวนิล น่าจะเหลือน้อยลง หรือหมดไปแล้วนั่นเอง
สำหรับชื่อแบรนด์ Plasticity มาจากการผสมระหว่างคำว่า Plastic และ City หมายถึง เมืองที่เต็มไปด้วยพลาสติก เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่มีการใช้พลาสติกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ฝนตก ทั่วทั้งเมืองจะเต็มไปด้วยร่มไวนิล เป็นหนึ่งภาพสะท้อนการใช้พลาสติกจำนวนมากในญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในพื้นที่มีฝนตกบ่อยและมีฤดูฝนที่ยาวนาน ทำให้เรามักจะชินตากับภาพเมืองที่เต็มไปด้วยชาวญี่ปุ่นเดินกางร่มท่ามกลางสายฝน โดยเฉพาะร่มไวนิลพลาสติกแบบใส ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายๆ จากร้าน 100 เยน หรือตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่ง Single-use item ที่กลายเป็นภาระต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่น ด้วยปริมาณการใช้งานต่อปีที่มากกว่า 80 ล้านคัน ท่ามกลางจำนวนร่มราว 120 ล้านคันที่ถูกใช้อยู่ในญี่ปุ่นในแต่ละปี
และเนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาไม่แพงมาก จึงไม่ค่อยคงทน เสียหายได้ง่าย หรือบางครั้งเมื่อใช้งานแล้ว ร่มส่วนใหญ่อาจจะถูกวางทิ้งไว้เฉยๆ ในมุมหนึ่งของบ้าน รวมทั้งการทิ้งไว้ตามสถานีรถไฟ หรือสถานที่สาธารณะต่างๆ ทำให้ในเวลาเพียงไม่นานหลังจากซื้อ หรือการใช้งานเพียงครั้งเดียว ร่มเหล่านี้ก็จะกลายสภาพมาเป็นขยะพลาสติก หรือหมดประโยชน์ลงอย่างรวดเร็ว
เป็นที่มาของการถือกำเนิดแบรนด์ Plasticity ที่มองเห็นถึงปัญหานี้ และต้องการหาวิธีในการช่วยลดปัญหาจำนวนขยะจากร่มไวนิลพลาสติกจำนวนมหาศาลในญี่ปุ่น เพราะจากโครงสร้างของร่ม ทำให้มีความยุ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล สุดท้ายร่มส่วนใหญ่จึงจบลงที่หลุมฝังกลบ หรือนำไปเผาทำลายเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
เปลี่ยนร่มที่ถูกทิ้ง เป็นกระเป๋าคราฟสุดเก๋
แนวคิดการ Upcycle ร่มไวนิลที่ถูกทิ้งมาเป็น กระเป๋าคราฟท์สุดเก๋ในหลากหลายรูปแบบ ด้วยการนำจุดเด่นของพลาสติกไวนิลที่สามารถกันน้ำได้ รวมทั้งเมื่อนำไปเข้ากระบวนการบีบอัดเพื่อนำไปผลิตกระเป๋า จะเกิดลวดลายในเนื้อวัสดุที่มองดูเหมือนเม็ดฝนที่ตกลงมากระทบกับกระจกหน้าต่าง ให้ความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ซึ่งทุกใบจะมีความยูนีคที่มีเพียงชิ้นเดียว เพราะใช้วัสดุจากร่มคนละคัน โดยเฉพาะบางใบที่มีคราบสนิมจากคันร่มติดอยู่ด้วย จะยิ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
Saito Aki ได้ต่อยอดกระเป๋าให้มีความหลากหลายมากขึ้น เริ่มจากกระเป๋าถือ มาเป็นกระเป๋าสะพาย กระเป๋าเป้แบบแบ็กแพ็ค กรเป๋าสตางค์ กระเป๋าใส่ของจุกๆ จิกๆ รวมทั้งหมวกด้วย ซึ่งนอกจากความครีเอทีฟเพื่อเพิ่มการใช้งานได้ในหลากหลายรูปแบบแล้ว ยังมองข้ามสเตปไปถึงการให้สินค้า Plasticity เป็นการกระตุ้นเตือน หรือช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาเรื่องของขยะพลาสติก ในทุกๆ ครั้งที่ได้เห็น หรือนำกระเป๋าของ Plasticity ไปใช้งานอีกด้วย โดยยังเพิ่มโปรแกรมสำหรับลูกค้าที่นำร่มเก่ามาแลกจะได้รับส่วนลด 100 เยน เพื่อช่วยลดปริมาณการนำร่มไปทิ้งได้อีกทางหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดมุ่งหมายสุดท้ายของแบรนด์ ที่ไม่ได้มองการเติบโตที่สวยหรูของแบรนด์ไว้เหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ทั่วไป เพราะผู้ก่อตั้งมีความคาดหวังไว้ว่า “แบรนด์ควรจะต้องหายไปภายใน 10 ปี” เพราะวัสดุพลาสติกจากร่มไวนิลน่าจะต้องหมดลง เมื่อมีคนตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น ทำให้มีการพัฒนาเทคโนลีต่างๆ ที่สามารถพัฒนาวัสดุที่มีความทนทาน และมีคุณสมบัติในการใช้งานต่างๆ ไม่แตกต่างจากการใช้ไวนิลหรือพลาสติก แต่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าได้ในที่สุด
ขณะที่แบรนด์เองก็จะไม่หาวัสดุประเภทอื่นมาผลิตแทน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากสิ่งมีชีวิต หรือหนังสัตว์ เนื่องจาก ต้องการให้แบรนด์มีความเป็น Animal Lover ที่ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น ดังนั้น ถึงแม้ว่าแบรนด์จะหายไป ก็จะเกิดสิ่งที่น่ายินดียิ่งกว่ามาแทนที่ เพราะนั่นหมายความว่า วัสดุในการผลิต Plasticity ได้ลดน้อยลงไป เป็นสัญญาณที่ดีว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่นได้รับการฟื้นฟูไปในทางที่ดีและมีความยั่งยืนได้มากขึ้นแล้วนั่นเอง
Source: https://plasticity.co.jp/ , IG : PLASTICITY