อุณหภูมิของแม่น้ำที่สูงขึ้นในสกอตแลนด์ ส่งผลให้ชาวประมงจับแซลมอนได้น้อยที่สุดในรอบ 70 ปี

แม่น้ำในประเทศสกอตแลนด์นับเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาแซลมอนที่จับได้ตามธรรมชาติ (Wild salmon) ซึ่งแหวกว่ายให้คนในท้องถิ่นจับไปบริโภค แต่เมื่อไม่นานมานี้พบว่าจำนวนประชากรปลาแซลมอนที่จับได้ในแม่น้ำเหล่านี้กลับลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

สื่อยักษ์ใหญ่อังกฤษอย่าง The Guardian ได้รายงานข้อมูลจำนวนปลาแซลมอนพันธุ์แอตแลนติกที่จับได้ในแม่น้ำสายต่างๆในสกอตแลนด์ พบว่า ในปีที่แล้ว ชาวประมงสามารถจับปลาแซลมอนได้ 35,693 ตัว ซึ่งนับเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ที่มีการบันทึกข้อมูลมาตั้งแต่ปี 1952 หรือในรอบ 70 ปี โดยปริมาณที่จับได้ คิดเป็น 75% ของจำนวนเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับปลาเทราส์ทะเลซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แหวกว่ายในแม่น้ำสายเดียวกัน ก็มีรายงานการจับได้ที่ลดลงเช่นกันเพียง 12,636 ตัว หรือคิดเป็น 77% ของจำนวนเฉลี่ยที่จับได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลข้างต้นเป็นเสมือนสัญญาณเตือนไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงและนักนิเวศวิทยา โดยปลาแซลมอน (Wild salmon) และปลาเทราส์มีความสำคัญในระบบห่วงโซ่อาหาร เพราะมันเป็นอาหารของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกหลากหลายชนิด และจำนวนปลาที่ลดลงนั้นยังส่งผลร้ายต่อสัตว์อื่นๆอีกด้วย เช่น นาก นกเหยี่ยว เป็ดปลา เป็นต้น

 

ปกติแล้วปลาแซลมอนจะอ่อนไหวกับอุณหภูมิน้ำและความบริสุทธิ์ของน้ำที่ลดลง อุณหภูมิน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมีผลต่อการเจริญเติบโตและอัตราการอยู่รอดของปลาแซลมอน นอกจากนี้  วิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษ การทำประมง และกิจกรรมทางอุตสาหกรรมกำลังเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้างและยังมีส่วนต่อจำนวนประชากรแซลมอนที่ลดลงนั่นเอง ( อ่านเพิ่มเติม :  โลกร้อนส่งผลจำนวนปลาแซลมอนวิกฤติ)

 ด้าน Alan Wells ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการประมงแห่งสกอตแลนด์ เรียกร้องให้รัฐบาลสกอตแลนด์เร่งกลยุทธ์ใหม่ในการเสริมสร้างและปกป้องฝูงปลาแซลมอน โดยเขากล่าวว่า “ตัวเลขล่าสุดเน้นย้ำว่าสถานการณ์เลวร้ายเพียงใด เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามคำมั่นโดยไม่ชักช้า และดำเนินการให้มากขึ้นในพื้นที่อื่นๆที่รัฐบาลมีอำนาจ”

 โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลเองได้ตอบตกลงที่จะปรับปรุงคุณภาพน้ำ พร้อมกับทบทวนข้อบังคับกฎหมายด้านการอนุรักษ์ ลดความขัดแย้งกับกิจกรรมทางทะเลและชายฝั่งของมนุษย์ และเสริมแกร่งความพยายามด้านการอนุรักษ์ทางทะเล

 นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินการฟื้นฟูธรรมชาติด้วยการรื้อเขื่อนและฝายออก และเพิ่มต้นไม้พื้นเมืองจำนวนหลายล้านต้นตลอดพื้นที่หลายพันไมล์ของฝั่งแม่น้ำเพื่อลดอุณหภูมิน้ำและน้ำท่วมฉับพลัน พร้อมกับสร้างโรงเพาะฟักปลาเพื่อปกป้องประชากรแซลมอนจากการสูญพันธุ์อีกด้วย

 source

Stay Connected
Latest News

ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และสเปลล์ เดินหน้าองค์กรสู่ความยั่งยืนทุกมิติ ประกาศความสำเร็จ ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป รวมกว่า 56,000 ตร.ม. ร่วมลดการใช้พลังงานของประเทศ พร้อมสร้างคุณค่าต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม