ต๊าชเว่อร์! สถาปนิกชาวไอซ์แลนด์ เสนอไอเดียใช้ ‘ลาวา’ สร้างบ้าน ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในธุรกิจก่อสร้าง

การได้ครอบครองบ้านหลังเล็กๆสักหลังคงเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายๆคน แต่รู้หรือไม่ว่า ในปี 2018 ภาคการก่อสร้างใช้พลังงานคิดเป็น 36% และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 39% ตามการรายงานของ International Energy Agency (“IEA”) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภาคการผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น ซีเมนต์ เหล็ก และกระจก  และยังคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต

จากการรายงานของ The Gaurdian พบว่า การก่อสร้างบ้าน 2 ชั้น ขนาด 2 ห้องนอน 2 ห้องรับแขก สามารถสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้มากถึงประมาณ 80 ตัน ซึ่งนับเป็นปริมาณที่มากเลยทีเดียว เทียบได้กับการใช้รถครอบครัวคันใหม่จำนวน 5 คัน หรือ การเดินทางท่องเที่ยวจากลอนดอนไปฮ่องกงถึง 24 ครั้งเลยทีเดียว นี่อาจเป็นข้อมูลที่อ่านแล้วตกใจ 

แต่จากงานวิจัยของ Arnhildur Pálmadótti สถาปนิกชาวไอซ์แลนด์ ที่ได้ทำการศึกษาวิธีสร้างบ้านที่ยั่งยืนมาเป็นระยะเวลาหลายปี ก็ทำให้วงการสถาปัตยกรรมต้องทึ่งกับไอเดียเลยก็ว่าได้ เพราะเธอค้นพบว่า “ลาวา” จากภูเขาไฟสามารถเป็นวัสดุสร้างบ้านที่จะช่วยลดการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในการสร้างบ้านได้ และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ไอเดียดังกล่าวเกิดขึ้นมาเนื่องจากเธอเห็นว่าในประเทศของเธอมีลาวาซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีใครเหลียวแล และไม่มีใครนำมาก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เธอจึงคิดอยากนำลาวาที่มีอยู่ในประเทศมาใช้เป็นวัสดุทางเลือกที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในการสร้างบ้านนั่นเอง

Arnhildur Pálmadótti สถาปนิกชาวไอซ์แลนด์ ผู้นำเสนอไอเดียทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้นให้กับธุรกิจก่อสร้าง

วัสดุก่อสร้างจากลาวา ยั่งยืนกว่าคอนกรีตและเหล็ก

Arnhildur และบริษัทด้านสถาปัตยกรรมของเธอได้ประกาศไอเดียนี้ภายในงาน DesignMarch ซึ่งเป็นงานเทศกาลด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมประจำปีของประเทศไอซ์แลนด์ที่จัดขึ้นที่กรุงเรคยาวิก (Reykjavik) โดยเธอบอกว่าจะนำลาวาที่ก่อตัว (lavaforming) หรือ หินหลอมเหลว ที่ถูกปล่อยมาจากภูเขาไฟมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างทางเลือกสำหรับสร้างบ้าน 

โดยเธอกล่าวว่า “ลาวาเป็นวัสดุก่อสร้างของโลก แต่แทนที่จะปล่อยให้ภูมิประเทศก่อตัวตามธรรมชาติเป็นเวลาหลายล้านปี เราสามารถเข้าควบคุมกระบวนการสร้างนั้นและสร้างทั้งเมืองสำหรับมนุษย์ได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งหมายความว่าเรามีแหล่งวัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืนที่สามารถผลิตพลังงานที่จำเป็นในการจัดการและดำเนินการได้”

อนาคตอันสดใสของบ้านลาวา

ประเทศไอซ์แลนด์นับเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีทรัพยากรธรรมชาติมากนัก นอกเหนือจากความอุดมสมบูรณ์ของลานหินและลาวา ซึ่งเป็นเหตุผลให้ Arnhildur และทีมของเธอเล็งความสนใจไปที่ลาวา แต่สิ่งที่ท้าทายต่อไปที่เธอต้องเผชิญก็คือวิธีควบคุมลาวาหลอมเหลวนั่นเอง

จากข้อมูลของภาครัฐของไอซ์แลนด์ พบว่า การปะทุของภูเขาไฟในไอซ์แลนด์เกิดขึ้นทุกๆ 5 ปี และสถาปนิกคาดว่าการขุดสนามเพลาะ (การขุดหลุมเป็นแนวยาวโดยรอบ เพื่อรองรับการปะทุของลาวา) เพื่อรวบรวมลาวาที่ไหลลงมาหลังจากการระเบิดของภูเขาไฟสามารถทำเตรียมไว้ล่วงหน้าได้ โดยลาวาที่สะสมไว้นั้นจะกลายเป็นหินแข็งและดินที่ติดอยู่กับลาวารอบสนามเพลาะจะถูกขุดขึ้นมาสร้างเป็นกำแพงจากลาวา

แต่หากภูเขาไฟไม่ปะทุ ทางสถาปนิกก็เสนอให้ทำการเจาะลงไปถึงชั้นแมกมาซึ่งอยู่ใต้พื้นผิวของภูเขาไฟเพื่อสกัดเอาลาวามาหล่อเป็นอิฐหรือแม้แต่ใช้ในวัสดุการพิมพ์ 3 มิติเพื่อทำอิฐ

อย่างไรก็ตาม ไอเดียที่สถาปนิกเหล่านี้ได้เสนอไปนั้น พวกเขาเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้เห็นในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะว่าต้องใช้ระยะเวลาหลายปีในการขุดเจาะ เก็บรวบรวม และพัฒนาวัสดุก่อสร้างจากลาวา แต่พวกเขาก็หวังว่าคนรุ่นใหม่ในอนาคตจะเพลิดเพลินกับเมืองแห่งลาวานี้ ซึ่งมันจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่าต่อรอคอย

source 

source

Stay Connected
Latest News