การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีความเข้าใจบริบทของโลกธุรกิจ ที่หันมาให้ความสำคัญ 3 แกนสำคัญ ทั้งในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) การดูแลสังคม (Social) รวมทั้งการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบของการมีธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งถือเป็นวาระที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ท้ังจากกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งการขับเคลื่อนจากฝั่งของแบรนด์
ขณะที่ความเชื่อก่อนหน้านี้มีมุมมองว่า เฉพาะผู้บริโภครุ่นใหม่อย่างกลุ่มมิลเลเนียล หรือเจน Z เท่านั้น ที่ตระหนักและให้ความสำคัญประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ESG แต่ข้อมูลจากทาง มายด์แชร์ เอเยนซี่ด้านการตลาดและการสื่อสารในเครือกรุ๊ปเอ็ม โดย คุณบงกช ชัยเมืองมา ผู้จัดการการวางแผนกลยุทธ์ เปิดเผยว่า ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มคนรุ่นใหม่เท่านั้น ที่ให้ความสำคัญต่อมิติในการขับเคลื่อนด้าน ESG เพราะทุกกลุ่มมีความกังวลและให้ความสำคัญกับ ESG ไม่แตกต่างกัน โดยพบว่า คนไทย 72% ในทุกกลุ่มอายุ ทั้งเบบี้บูมเมอร์, เจน X และคนรุ่นใหม่อย่างมิลเลเนียล และเจน Z ต่างมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเช่นเดียวกัน ขณะที่กว่า 70% ของเจน X พยายามที่จะหาทางลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันลง ส่วน 95% ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ยังให้ความสนใจในการลงทุนผ่านกลุ่มธุรกิจที่มีแนวทางในการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน
ส่วนแนวทางที่แบรนด์จะสามารถเชื่อมโยงมิติด้าน ESG มาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ มีหลากหลายมุม ประกอบด้วย
– การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้แทนพลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะจากบรรจุภัณฑ์ที่จะกลายเป็นขยะ นำไปสู่การฝังกลบ
– การส่งเสริมในเรื่องของการผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ เช่น นโยบายของกลุ่มแฟชั่นที่พยายามทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีอายุการใช้งานได้นานขึ้น แทนการตามแฟชั่นที่เปลี่ยนเร็ว เมื่อตกรุ่นก็จะกลายเป็นขยะจำนวนมหาศาล
– การยอมรับในความหลากหลายและเท่าเทียมกันในสังคม เช่น การสนับสนุนแนวคิดความหลากหลายทางเพศ ซึ่งพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ยินดีที่จะจ่ายให้กับแบรนด์ที่มีความเข้าใจ และมองเห็น หรือสามารถแชร์คุณค่าร่วมเช่นเดียวกันกับสิ่งที่พวกเขาเชื่อได้
– การยึดถือจริยธรรมในการสื่อสาร โดยเฉพาะการให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย
– การให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของลูกค้า การเก็บ การใช้ หรือการนำข้อมูลไปต่อยอดต่างๆ ต้องทำโดยความตรงไปตรงมาและไม่นำไปใช้นอกเหนือวัตถุประสงค์ที่ได้ขออนุญาตไว้โดยพละการ
“เหตุผลที่สื่อและนักการตลาดควรให้ความสำคัญกับ ESG เนื่องมาจากทั้ง 3 แกนหลักดังกล่าวมีความสอดคล้องไปด้วยกัน และสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างผลกระทบในวงกว้างได้ โดยไม่สามารถทิ้งแกนใดแกนหนึ่งได้ แตไปไม่ได้ ต้องทำควบคู่กันไปทั้ง 3 แกน ตามความเหมาะสมกับธุรกิจ กลุ่มเป้าหมาย หรือแต่ละบริบทที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะในมิติของการขับเคลื่อนจากแบรนด์ใหญ่ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญ เพียงแค่การปรับนโยบายหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เช่น การหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือลดการใช้พลาสติกที่มาจากเชิงนโยบาย ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสร้างผลกระทบในเชิงบวกได้มากกว่า”
อย่างไรก็ตาม แบรนด์ไม่ควรคิดเพียงแค่มิติในการตลาด ที่ต้องการเข้ามาอยู่ในกระแสเพียงแค่หวังผลในการสร้างยอดขาย โดยไม่มีความเชื่อในเรื่องของ ESG ที่แท้จริง เนื่องจาก ผู้บริโภคจะมองถึงการขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ ที่สื่อสารออกมาด้วย ว่าเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันหรือไม่ ดังน้ัน หากแบรนด์ที่ไม่ได้ขับเคลื่อนมากจาก Core Value ที่ตรงกัน ก็อาจจะกระทบต่อศรัทธาที่ผู้บริโภคจะมีต่อแบรนด์ได้ ดังนั้น หากนักการตลาดต้องการนำแนวคิด ESG ไปปรับใช้กับแบรนด์ จำเป็นต้องคำนึงถึงมิติต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งประกอบไปด้วย
1. เริ่มจากการเข้าใจตัวตนของแบรนด์ เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งควรเริ่มจากภายในก่อน รู้จุดยืนของแบรนด์ คุณค่าของแบรนด์ และเป้าหมายระยะยาวของแบรนด์ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในการประเมินสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ แล้วเชื่อมช่องว่างสู่การสื่อสารของแบรนด์
2. หลายแบรนด์กลัวว่าจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมใหม่นี้ อย่างไรก็ตามการเติบโตอย่างยั่งยืนควรเป็นถือเป็นการเคลื่อนไหว ไม่ใช่ชั่วขณะ เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ได้
3. ส่วนที่ยากที่สุดของการเติบโตอย่างยั่งยืนคือ การยึดมั่นในคำมั่นสัญญาของแบรนด์ ผู้บริโภคจะดูความตั้งใจและความสม่ำเสมอของแบรนด์ในสิ่งที่ทำ รวมทั้งความโปร่งใส เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แบรนด์จะได้รับความเชื่อใจจากผู้บริโภค แบรนด์ควรพึงระลึกเสมอว่าการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่กิจกรรมที่แบรนด์จะทำกิจกรรมเพียงแค่หนึ่งครั้ง แต่คือการหมั่นกระทำในกิจกรรมที่จะแสดงออกให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน