ทำความรู้จัก ‘Greenery Water’​ น้ำดื่มกระป๋องอะลูมิเนียมของไทย ที่มีคาร์บอนฟุตปริ้นท์ต่ำที่สุดในอาเซียน

Greenery Water (กรีนเนอรี วอเตอร์) อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์​​ จาก​ Greenery แพลตฟอร์มสำหรับชุมชน Sustainanle Lifestyle ที่ต้องการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตแห่งความยั่งยืนไปสู่สังคมให้กว้างมากที่สุด โดยเลือกใช้น้ำดื่ม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทุกคนได้ ภายใต้บรรจุภัณฑ์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดอย่างอะลูมิเนียม เนื่องจากสามารถนำไปรีไซเคิลได้ตลอดอายุการใช้งาน เพื่อหวังเป็นเครื่องมือในการลดปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาที่ทั้งโลกกำลังให้ความสนใจ

คุณธนบูรณ์​ สมบูรณ์​ หรือ คุณเอช เจ้าของและผู้ขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม Greenery รวมทั้ง Greenery Water ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ล่าสุดและเชื่อว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถสื่อสารกับผู้คนในวงกว้างได้เสียงดังมากขึ้น เล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างผลิตภัณฑ์น้ำดื่มในกระป๋องอะลูมิเนียม Greenery Water ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่ใช้เวลาถึง 7 ปี ว่า การที่เราเลือกทำน้ำ เพราะเชื่อว่าจะเข้าถึงทุกคนได้ ขณะที่แพกเกจหลักในตลาดคือ ขวดพลาสติก ซึ่งต่อปีมีปริมาณการใช้มากกว่า 6,000 ล้านขวดต่อปี แต่ปริมาณการนำพลาสติกกลับไปรีไซเคิลในปัจจุบันมีอยู่ที่ราว  9% เท่านั้น

จึงมีความคิดอยากสร้างโซลูชันส์ที่สามารถแก้ปัญหามาจากต้นทาง ด้วยการเปลี่ยนแพกเกจเป็นอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืนมากที่สุด ประกอบกับ ด้วยราคารับซื้อที่ค่อนข้างสูง ทำให้ผู้คนนิยมเก็บเพื่อนำไปขายต่อให้ซาเล้ง หรือธุรกิจรีไซเคิลต่างๆ ทำให้อะลูมิเนียมเป็นวัสดุที่จะไม่หลุดออกนอกระบบเพื่อสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา เหมือนพลาสติก หรือวัสดุอื่นๆ ทำให้สามารถช่วยลด Waste ได้ตั้งแต่ต้นทางอีกด้วย ​นอกจากนี้ ทุกๆ ยอดขายที่ขายได้ทุก 1 กระป๋อง ทาง Greenery Water จะบริจาค  50 สตางค์ ให้ SATI Foundation สนับสนุนโครงการสร้างระบบน้ำดื่มสะอาดให้แก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารอีกด้วย

“ก่อนหน้านี้เราทดลองใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษซึ่งพบว่า แม้จะดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็กลับไปสร้างปัญหาให้โลกในอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้สุดท้ายต้องเลิกโปรเจ็กต์ไป จนมาเลือกใช้อะลูมิเนียม ซึ่งสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืนได้ดีที่สุด ประกอบกับ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่มีโรงงานหลอม และขึ้นรูปอะลูมิเนียมอยู่ในประเทศ ดังนั้น Greenery Water จึงถือว่าเป็นน้ำดื่มในกระป๋องอะลูมิเนียม ที่มีคาร์บอนฟุตปริ้นท์ที่ต่ำที่สุดในอาเซียนอีกด้วย ถึงแม้ในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม จะผลิตน้ำดื่มในกระป๋องอะลูมิเนียมเช่นกัน แต่ก็ต้องส่งอะลูมิเนียมมารีไซเคิลในบ้าน ทำให้มีคาร์บอนฟุตปริ้นท์สูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ”​

สำหรับการทำตลาดในเบื้องต้น คุณเอช จะเริ่มจากการ Approach เข้าไปในตลาดที่คนตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อเริ่มสร้างแนวร่วมและจุดประกายให้เป็นวงกว้าง เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ร้านกาแฟ หรือในกลุ่มผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการดูแลและสร้างความยั่งยืนให้กับโลก รวมไปถึงการทำโคแบรนด์ให้กับองค์กรที่ต้องการผลิตน้ำดื่มไปแจกให้กับลูกค้าของตนเองภายใต้แบรนด์องค์กร หรือในงานเทศกาลต่างๆ โดยเบื้องต้น โรงแรมโฟร์ซีซั่น เชียงใหม่ ได้เริ่มนำ Greenery Water ไปให้บริการลูกค้าในโรงแรมเรียบร้อยแล้ว ​และยังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ซึ่งมีความสนใจติดต่อเข้ามาจำนวนมาก

นอกจากการขยายตลาดให้เกิดการทดแทนตลาดน้ำดื่มจากขวดพลาสติกแล้ว ทาง Greenery Water ยังได้พัฒนาโมเดลการรับซื้อกระป๋องกลับคืนจากลูกค้าทั้งหมด เพื่อให้สามารถนำบรรจุภัณฑ์กลับมารีไซเคิลในระบบให้ได้ทั้งหมด โดยไม่หลุดรอดออกไปกลายเป็นขยะ โดยจะเริ่มใช้กับพาร์ทเนอร์ทุกราย และพยายามพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ที่สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์มีความยั่งยืนมากที่สุด

“เราต้องเริ่มในตลาดที่คนมีความเข้าใจ ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อมากกว่า เพราะต้องยอมรับว่า​ เรื่องของราคาอาจจะยังสูงกว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำดื่มในกลุ่มแมส​ แม้จะอยากวางขายในช่องทางที่เข้าถึงคนในกลุ่มแมส เพื่อให้มีการบริโภคไปในวงกว้างได้มากที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องราคาที่หากเทียบกันในปริมาณต่อลิตร เราอาจจะยังแพงกว่าน้ำดื่มทั่วๆ ไปในตลาด มากกว่า 2 -3 เท่าตัว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญด้านราคาเป็นส่ิงที่ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมีความกังวลอยู่ค่อนข้างมากเช่นกัน จึงต้องเริ่มขับเคลื่อนในตลาดที่จะคาดว่าจะได้รับการตอบรับโดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่มตลาด Corporate เช่น โรงแรม ร้านอาหาร หรือผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน และสร้างการมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนได้มากที่สุด “

ทั้งนี้ Greenery Water มีเป้าหมายต้องการเข้าไปทดแทนการใช้ขวดน้ำดื่มพลาสติกให้ได้ 5 แสนกระป๋อง ภายในปีแรกนี้ และขยับเป็น 1 ล้านกระป๋องในปีถัดไป พร้อมทั้งวางเป้าหมายใหญ่ที่สุดคือ การเข้าไปทดแทนขวดน้ำดื่มพลาสติกทั้ง 6,000 ล้านขวดในตลาด รวมทั้งอยู่ระหว่างการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้ดื่มน้ำแร่ และสปาร์กลิ่ง ด้วยการผลิต Greenery Mineral Water และ Greenery Sparkling Water เข้ามาทำตลาดในอนาตตอันใกล้นี้

Greenery  แพลตฟอร์มเพื่อความยั่งยืน

ด้วยมุมมองในฐานะผู้บริโภคที่มีความเป็น Green Lifestyle แต่ปัญหาที่พบเจอด้วยตัวเองคือ ข้อมูลข่าวสารเรื่องกรีน เรื่องความยั่งยืนต่างๆ ในประเทศไทยส่วนใหญ่ มักเลือกที่จะสื่อสารกับกลุ่ม Enterprise ที่เป็นองค์กร หรือแบรนด์ใหญ่ๆ ว่าต้องทำอะไรบ้าง และต้องทำอย่างไร เพื่อให้มีส่วนร่วมในการดูแลโลก และนำไปสู่เป้าหมายในการสร้างแบรนด์สร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่ผู้บริโภคคนตัวเล็กๆ ทั่วไป กลับไม่รู้ว่า ต้องกินอะไร ใช้อะไร ใช้ชีวิตแบบไหน ที่จะดีทั้งต่อโลกและตัวเอง​ หรือจะสามารถหาซื้อสินค้ากรีนได้จากที่ไหน มีสินค้าอะไรบ้าง ขายที่ไหน อย่างไรบ้าง ​นำมาซึ่งการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับเป็นศูนย์กลาง เป็น  Community ของกลุ่ม Green Lifestyle เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้แก่ผู้คน ในฐานะที่คุณเอช เคยทำงานครีเอทีฟเอเยนซี่ที่ Creatove Move ซึ่งดูแลงานด้านการขับเคลื่อนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดมากว่าสิบปี ​จึงนำมาสู่การสร้าง Creative Sustainable Lifestyle Platform ในชื่อ Greenery 

สำหรับ Greenery ​ เป็นแพลตฟอร์มที่สับสนุนให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืน​ ภายใต้คอนเซ็ปต์  “One Stop Service Platform for Creative Sustainable Lifestyle” และน่าจะเป็นแพลตฟอร์มเดียวในขณะนี้ที่เน้นการสื่อสารกับผู้บริโภคเป็นหลัก และเป็นผู้เชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ผลิตได้มาพบเจอกัน ผ่านการขับเคลื่อนในมิติด้านความยั่งยืนจาก  5  รูปแบบ ต่อไปนี้

1. Green  Product ในรูปผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อโลก ได้แก่ Greenery Water ซึ่งใช้เวลาในการศึกษาลองผิดลองถูกมากว่า  7 ปี จนได้เป็นน้ำดื่มในกระป๋องอะลูมิเนียมออกมา ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาน้ำแร่ และสปาร์คลิ่งตามมาในอนาคต

2. Green Agency  ด้วยการใช้ความความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน ในรูปแบบครีเอทีฟเอเยนซี่ที่ขับเคลื่อนงานด้านการสื่อสารเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวมาตลอดกว่า 10 ปี

3. Green Marketplace การสร้างช่องทางให้กรีนโปรดักส์ ทั้งรูปแบบ Online On ground  ผ่านกิจกรรม Green Market ตลาดกรีนใจกลางเมือง ที่จัดต่อเนื่องใน กทม.​ มาแล้ว 24 ครั้ง​ รวบรวมเกษตรกร และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมให้เข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง โดยมีผู้เข้าร่วมงานในแต่ละครั้งราว 7 หมื่นคน และสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการในงานโดยรวมได้กว่า 7 ล้านบาท

4. Green Media การใช้ช่องทางออนไลน์ ทั้งการมีเว็บไซต็ Greenery.org และแฟนเพจ Greenery  เพื่อสื่อสารเรื่องราว​ ความรู้ บทความต่างๆ ข้อมูลของสินค้าจากทั้งแบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็ก เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้​ชีวิตได้อย่างยั่งยืน โดยมีคนติเตามมากกว่า 2.5 ล้านคน และมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมในแต่ละวันไม่ต่ำกว่าเดือนละ  8 หมื่นคน

5. Green Event  การจัดงานกิจกรรมต่างๆ เช่น งานเสวนา งานทอล์ก อีเวนท์ ที่ส่งเสริมเรื่องของความยั่งยืน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน Sustainable Ecosystem ให้เติบโต ทั้งจากแบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็ก คนทำงานสร้างสรรค์ต่างๆ โดยอยู่ระหว่างการเตรียมงาน  Eco design Week,  Eco Fashion Week  ที่กำลังจะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้ เป็นต้น

Stay Connected
Latest News