Greenery Water (กรีนเนอรี วอเตอร์) อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ จาก Greenery แพลตฟอร์มสำหรับชุมชน Sustainanle Lifestyle ที่ต้องการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตแห่งความยั่งยืนไปสู่สังคมให้กว้างมากที่สุด โดยเลือกใช้น้ำดื่ม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทุกคนได้ ภายใต้บรรจุภัณฑ์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดอย่างอะลูมิเนียม เนื่องจากสามารถนำไปรีไซเคิลได้ตลอดอายุการใช้งาน เพื่อหวังเป็นเครื่องมือในการลดปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาที่ทั้งโลกกำลังให้ความสนใจ
คุณธนบูรณ์ สมบูรณ์ หรือ คุณเอช เจ้าของและผู้ขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม Greenery รวมทั้ง Greenery Water ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ล่าสุดและเชื่อว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถสื่อสารกับผู้คนในวงกว้างได้เสียงดังมากขึ้น เล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างผลิตภัณฑ์น้ำดื่มในกระป๋องอะลูมิเนียม Greenery Water ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่ใช้เวลาถึง 7 ปี ว่า การที่เราเลือกทำน้ำ เพราะเชื่อว่าจะเข้าถึงทุกคนได้ ขณะที่แพกเกจหลักในตลาดคือ ขวดพลาสติก ซึ่งต่อปีมีปริมาณการใช้มากกว่า 6,000 ล้านขวดต่อปี แต่ปริมาณการนำพลาสติกกลับไปรีไซเคิลในปัจจุบันมีอยู่ที่ราว 9% เท่านั้น
จึงมีความคิดอยากสร้างโซลูชันส์ที่สามารถแก้ปัญหามาจากต้นทาง ด้วยการเปลี่ยนแพกเกจเป็นอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืนมากที่สุด ประกอบกับ ด้วยราคารับซื้อที่ค่อนข้างสูง ทำให้ผู้คนนิยมเก็บเพื่อนำไปขายต่อให้ซาเล้ง หรือธุรกิจรีไซเคิลต่างๆ ทำให้อะลูมิเนียมเป็นวัสดุที่จะไม่หลุดออกนอกระบบเพื่อสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา เหมือนพลาสติก หรือวัสดุอื่นๆ ทำให้สามารถช่วยลด Waste ได้ตั้งแต่ต้นทางอีกด้วย นอกจากนี้ ทุกๆ ยอดขายที่ขายได้ทุก 1 กระป๋อง ทาง Greenery Water จะบริจาค 50 สตางค์ ให้ SATI Foundation สนับสนุนโครงการสร้างระบบน้ำดื่มสะอาดให้แก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารอีกด้วย
“ก่อนหน้านี้เราทดลองใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษซึ่งพบว่า แม้จะดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็กลับไปสร้างปัญหาให้โลกในอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้สุดท้ายต้องเลิกโปรเจ็กต์ไป จนมาเลือกใช้อะลูมิเนียม ซึ่งสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืนได้ดีที่สุด ประกอบกับ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่มีโรงงานหลอม และขึ้นรูปอะลูมิเนียมอยู่ในประเทศ ดังนั้น Greenery Water จึงถือว่าเป็นน้ำดื่มในกระป๋องอะลูมิเนียม ที่มีคาร์บอนฟุตปริ้นท์ที่ต่ำที่สุดในอาเซียนอีกด้วย ถึงแม้ในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม จะผลิตน้ำดื่มในกระป๋องอะลูมิเนียมเช่นกัน แต่ก็ต้องส่งอะลูมิเนียมมารีไซเคิลในบ้าน ทำให้มีคาร์บอนฟุตปริ้นท์สูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ”
สำหรับการทำตลาดในเบื้องต้น คุณเอช จะเริ่มจากการ Approach เข้าไปในตลาดที่คนตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อเริ่มสร้างแนวร่วมและจุดประกายให้เป็นวงกว้าง เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ร้านกาแฟ หรือในกลุ่มผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการดูแลและสร้างความยั่งยืนให้กับโลก รวมไปถึงการทำโคแบรนด์ให้กับองค์กรที่ต้องการผลิตน้ำดื่มไปแจกให้กับลูกค้าของตนเองภายใต้แบรนด์องค์กร หรือในงานเทศกาลต่างๆ โดยเบื้องต้น โรงแรมโฟร์ซีซั่น เชียงใหม่ ได้เริ่มนำ Greenery Water ไปให้บริการลูกค้าในโรงแรมเรียบร้อยแล้ว และยังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ซึ่งมีความสนใจติดต่อเข้ามาจำนวนมาก
นอกจากการขยายตลาดให้เกิดการทดแทนตลาดน้ำดื่มจากขวดพลาสติกแล้ว ทาง Greenery Water ยังได้พัฒนาโมเดลการรับซื้อกระป๋องกลับคืนจากลูกค้าทั้งหมด เพื่อให้สามารถนำบรรจุภัณฑ์กลับมารีไซเคิลในระบบให้ได้ทั้งหมด โดยไม่หลุดรอดออกไปกลายเป็นขยะ โดยจะเริ่มใช้กับพาร์ทเนอร์ทุกราย และพยายามพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ที่สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์มีความยั่งยืนมากที่สุด
“เราต้องเริ่มในตลาดที่คนมีความเข้าใจ ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อมากกว่า เพราะต้องยอมรับว่า เรื่องของราคาอาจจะยังสูงกว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำดื่มในกลุ่มแมส แม้จะอยากวางขายในช่องทางที่เข้าถึงคนในกลุ่มแมส เพื่อให้มีการบริโภคไปในวงกว้างได้มากที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องราคาที่หากเทียบกันในปริมาณต่อลิตร เราอาจจะยังแพงกว่าน้ำดื่มทั่วๆ ไปในตลาด มากกว่า 2 -3 เท่าตัว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญด้านราคาเป็นส่ิงที่ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมีความกังวลอยู่ค่อนข้างมากเช่นกัน จึงต้องเริ่มขับเคลื่อนในตลาดที่จะคาดว่าจะได้รับการตอบรับโดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่มตลาด Corporate เช่น โรงแรม ร้านอาหาร หรือผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน และสร้างการมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนได้มากที่สุด “
ทั้งนี้ Greenery Water มีเป้าหมายต้องการเข้าไปทดแทนการใช้ขวดน้ำดื่มพลาสติกให้ได้ 5 แสนกระป๋อง ภายในปีแรกนี้ และขยับเป็น 1 ล้านกระป๋องในปีถัดไป พร้อมทั้งวางเป้าหมายใหญ่ที่สุดคือ การเข้าไปทดแทนขวดน้ำดื่มพลาสติกทั้ง 6,000 ล้านขวดในตลาด รวมทั้งอยู่ระหว่างการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้ดื่มน้ำแร่ และสปาร์กลิ่ง ด้วยการผลิต Greenery Mineral Water และ Greenery Sparkling Water เข้ามาทำตลาดในอนาตตอันใกล้นี้
Greenery แพลตฟอร์มเพื่อความยั่งยืน
ด้วยมุมมองในฐานะผู้บริโภคที่มีความเป็น Green Lifestyle แต่ปัญหาที่พบเจอด้วยตัวเองคือ ข้อมูลข่าวสารเรื่องกรีน เรื่องความยั่งยืนต่างๆ ในประเทศไทยส่วนใหญ่ มักเลือกที่จะสื่อสารกับกลุ่ม Enterprise ที่เป็นองค์กร หรือแบรนด์ใหญ่ๆ ว่าต้องทำอะไรบ้าง และต้องทำอย่างไร เพื่อให้มีส่วนร่วมในการดูแลโลก และนำไปสู่เป้าหมายในการสร้างแบรนด์สร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ผู้บริโภคคนตัวเล็กๆ ทั่วไป กลับไม่รู้ว่า ต้องกินอะไร ใช้อะไร ใช้ชีวิตแบบไหน ที่จะดีทั้งต่อโลกและตัวเอง หรือจะสามารถหาซื้อสินค้ากรีนได้จากที่ไหน มีสินค้าอะไรบ้าง ขายที่ไหน อย่างไรบ้าง นำมาซึ่งการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับเป็นศูนย์กลาง เป็น Community ของกลุ่ม Green Lifestyle เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้แก่ผู้คน ในฐานะที่คุณเอช เคยทำงานครีเอทีฟเอเยนซี่ที่ Creatove Move ซึ่งดูแลงานด้านการขับเคลื่อนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดมากว่าสิบปี จึงนำมาสู่การสร้าง Creative Sustainable Lifestyle Platform ในชื่อ Greenery
สำหรับ Greenery เป็นแพลตฟอร์มที่สับสนุนให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “One Stop Service Platform for Creative Sustainable Lifestyle” และน่าจะเป็นแพลตฟอร์มเดียวในขณะนี้ที่เน้นการสื่อสารกับผู้บริโภคเป็นหลัก และเป็นผู้เชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ผลิตได้มาพบเจอกัน ผ่านการขับเคลื่อนในมิติด้านความยั่งยืนจาก 5 รูปแบบ ต่อไปนี้
1. Green Product ในรูปผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อโลก ได้แก่ Greenery Water ซึ่งใช้เวลาในการศึกษาลองผิดลองถูกมากว่า 7 ปี จนได้เป็นน้ำดื่มในกระป๋องอะลูมิเนียมออกมา ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาน้ำแร่ และสปาร์คลิ่งตามมาในอนาคต
2. Green Agency ด้วยการใช้ความความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน ในรูปแบบครีเอทีฟเอเยนซี่ที่ขับเคลื่อนงานด้านการสื่อสารเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวมาตลอดกว่า 10 ปี
3. Green Marketplace การสร้างช่องทางให้กรีนโปรดักส์ ทั้งรูปแบบ Online On ground ผ่านกิจกรรม Green Market ตลาดกรีนใจกลางเมือง ที่จัดต่อเนื่องใน กทม. มาแล้ว 24 ครั้ง รวบรวมเกษตรกร และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมให้เข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง โดยมีผู้เข้าร่วมงานในแต่ละครั้งราว 7 หมื่นคน และสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการในงานโดยรวมได้กว่า 7 ล้านบาท
4. Green Media การใช้ช่องทางออนไลน์ ทั้งการมีเว็บไซต็ Greenery.org และแฟนเพจ Greenery เพื่อสื่อสารเรื่องราว ความรู้ บทความต่างๆ ข้อมูลของสินค้าจากทั้งแบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็ก เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืน โดยมีคนติเตามมากกว่า 2.5 ล้านคน และมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมในแต่ละวันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 8 หมื่นคน
5. Green Event การจัดงานกิจกรรมต่างๆ เช่น งานเสวนา งานทอล์ก อีเวนท์ ที่ส่งเสริมเรื่องของความยั่งยืน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน Sustainable Ecosystem ให้เติบโต ทั้งจากแบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็ก คนทำงานสร้างสรรค์ต่างๆ โดยอยู่ระหว่างการเตรียมงาน Eco design Week, Eco Fashion Week ที่กำลังจะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้ เป็นต้น