องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศประเด็น “ยาสูบ : ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม” รณรงค์เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2565 ชี้ให้เห็นถึงตลอดเส้นทางของบุหรี่ ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย จนถึงของเสียและขยะที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งทุกปีจะมีขยะจากก้นบุหรี่ 4.5 ล้านล้านชิ้น ขณะที่การผลิตบุหรี่ 1 มวน ต้องใช้น้ำ 3.7 ลิตร รวมทั้งเราต้องเสียต้นไม้ 1 ต้น สำหรับการผลิตบุหรี่ห้ได้ 300 มวน
นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์กรอนามัยโลกประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า การที่องค์กรอนามัยโลกใช้แนวคิดสื่อสารที่เชื่อมโยงการสูบบุหรี่เข้ากับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจช่วยให้มีจำนวนผู้เลิกสูบบุหรี่ได้เพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากวงจรการปลูก การผลิต การจัดจำหน่ายยาสูบ ของเสีย และขยะที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เพราะทั้งกระบวนการในการปลูก การผลิต และการใช้ยาสูบ ล้วนก่อมลพิษให้แก่ แหล่งน้ำ ดิน ชายหาด และถนนหนทาง ซึ่งเกิดจากการปนเปื้อนของสารพิษในดินและน้ำ ขยะก้นบุหรี่ รวมถึงไมโครพลาสติก และขยะจากชิ้นส่วนของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงต้นไม้เป็นจำนวนมากถูกตัดเพื่อแผ้วถางพื้นที่สำหรับการทำไร่ยาสูบ
“การผลิตบุหรี่ ต้องใช้ต้นไม้ 1 ต้นในการผลิตบุหรี่ 300 มวน ขณะที่กระบวนการผลิตบุหรี่ 1 มวน ต้องใช้ปริมาณน้ำถึง 3.7 ลิตร โดยเฉลี่ยหากนักสูบ 1 คนเลิกสูบบุหรี่ได้ จะช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 74 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ ชาวไร่ยาสูบเองก็ได้รับนิโคตินจากการสัมผัสใบยาในปริมาณสูงเทียบเท่าการได้รับจากบุหรี่ 50 มวนต่อวัน มีการประมาณการว่า แต่ละปีมีขยะก้นบุหรี่ถึง 4.5 ล้านล้านชิ้นถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม”
ทั้งนี้ พบว่าบุหรี่คร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกสูงถึงกว่า 8 ล้านคนต่อปี เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการปลูก การผลิต การจัดจำหน่าย การบริโภค และขยะหลังการบริโภค ซึ่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุตสาหกรรมยาสูบและจากการสูบบุหรี่นั้น มหาศาลและเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโลกที่มีทรัพยากรจำกัด และมีระบบนิเวศน์ที่เปราะบางอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเลิกบุหรี่เพื่อรักษาสุขภาพและโลกของเรา
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจถึงผลกระทบของบุหรี่ท่ีมีต่อสิ่งแวดล้อม จากงานสัมมนาภาคีเครือข่ายในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2565 โดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัยโลก ประเทศไทย จากภาคส่วนต่าง อาทิ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บริเวณตามชายหาดจะพบก้นบุหรี่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งก้นบุหรี่มีส่วนผสมของพลาสติกที่ย่อยสลายยาก รวมไปถึงเศษยาเส้นที่หลงเหลืออยู่ เป็นมลพิษต่อชายหาด ทำให้น้ำทะเลปนเปื้อน ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ตามชายหาดหลายแห่ง ขณะที่สเปนกำหนดห้ามสูบบุหรี่ที่ชายหาดทั่วประเทศ เพื่อลดขยะก้นบุหรี่ที่ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องเสียค่าปรับถึง 5 หมื่นบาท ขณะที่ประทศไทยก็เริ่มตื่นตัวและกำหนดห้ามสูบบุหรี่ตามชายหาดต่าง ๆ บ้างแล้ว
แพทย์หญิงโอลิเวีย นีเวอราส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า บุหรี่สร้างผลกระทบต่อแหล่งน้ำ หากทิ้งก้นบุหรี่ลงไปในน้ำ ประมาณ 96 ชั่วโมง ปลาส่วนใหญ่ในน้ำจะตาย ขณะที่ผืนป่าในแต่ละปีพื้นที่ประมาณ 1.25 ล้านไร่ทั่วโลก ถูกแผ้วถางเพื่อทำการเพาะปลูก และบ่มใบยาสูบ และต้องใช้เวลาถึง 10 ปีในการย่อยสลายก้นบุหรี่ ซึ่งมีสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด ปนเปื้อนลงสู่ดิน โดย 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง และก้นบุหรี่ ถือเป็นขยะที่ถูกทิ้งมากที่สุดและเป็นขยะที่พบบ่อยที่สุดบนชายหาด
รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล และสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ อธิบายว่า การผลิตบุหรี่ 1 มวน ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงการกำจัดทิ้ง จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 14 กรัม ดังนั้น แต่ละปีการผลิตยาสูบทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 84 ล้านเมตริกตัน นอกจากนี้ ควันบุหรี่ ยังสร้างก๊าซเรือนกระจก เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภายในอาคารและกลางแจ้งอย่างชัดเจน มีผลสำรวจพบว่าใน 100 คนจะมี 65 คนที่ทิ้งก้นบุหรี่อย่างไม่เหมาะสม เช่น ทิ้งตามทางเท้า ทิ้งบนชายหาด เป็นต้น ซึ่งก้นบุหรี่จะเป็นขยะชิ้นเล็ก ๆ ที่เรามักมองข้ามไป แต่พอเก็บมากองรวมกันจะกลายเป็นขยะพิษกองมหึมา เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง ขณะที่ก้นกรองบุหรี่ยังทำมาจากเส้นใยเซลลูโลสอะซิเตท ซึ่งยากต่อการย่อยสลายและเป็นสาเหตุของการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีในการย่อยสลาย
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า ขยะก้นบุหรี่พบบ่อยมากในชายหาด และหลายครั้งที่ทำการผ่าพิสูจน์ซากสัตว์ทะเลที่เกยตื้นเสียชีวิต เช่น เต่า ปลาวาฬ และพะยูน จะเจอขยะพลาสติกและก้นบุหรี่อุดตันในท้องจำนวนมาก และจากการลงพื้นที่สำรวจปริมาณก้นบุหรี่บนชายหาด จำนวน 5 แห่ง พบว่า ชายหาดแต่ละแห่งมีก้นบุหรี่ตกค้างอยู่ถึง 1 แสนชิ้น ยังไม่นับรวมก้นบุหรี่ที่ไหลลงสู่ท้องทะเล จึงได้มีการจัดทำโครงการชายหาดปลอดบุหรี่ พร้อมกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนทิ้งก้นบุหรี่ลงบนชายหาด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ การทิ้งก้นบุหรี่ลงบนชายหาด ส่งผลกระทบต่อคน สัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. ขยะจากก้นกรองบุหรี่ ประกอบด้วยสารเคมี เช่น ท็อกซิน นิโคติน สารหนู ยาฆ่าแมลง สารก่อมะเร็ง สามารถทำให้น้ำทะเลปนเปื้อนและสะสมสารพิษ
2. ส่งผลโดยตรงต่อจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ส่วนสัตว์น้ำขนาดใหญ่ เช่น ปลาวาฬ พะยูน และเต่าทะเล มักได้รับผลกระทบจากการกินขยะประเภทนี้ จนเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร
3. ก้นกรองบุหรี่เป็นขยะพลาสติก ใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 2-12 ปี ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม กลายเป็นสารพิษทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางทะเล
ที่มาข้อมูล : สสส. ; ยาสูบ : ภัยคุคามสิ่งแวดล้อม, หยุดบุหรี่ หยุดทำลายส่ิงแวดล้อม