“สุนัขนักบำบัด” จากโครงการ Therapy Dog Thailand เปรียบได้กับนวัตกรรมใหม่ทางการแพทย์ ด้วยการใช้เพื่อนสี่ขามาเป็นผู้ทลายกำแพงให้แก่ผู้ป่วยซึมเศร้า รวมทั้งเป็นเพื่อนใหม่ให้แก่คนสูงวัย รวมไปถึงทุกๆ คนที่ต้องการกำลังใจ
สำหรับโครงการนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มจิตอาสาทที่ต้องการสร้างระบบนิเวศน์เล็ก ๆ เกี่ยวกับ “สุนัขนักบำบัด” ในประเทศไทย และได้เปิดตัวโครงการเมื่อปลายปี 2563 โดย คุณศิริวรรณ โอสถารยกุล ประธานบริษัท ออลไฟน์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และเจ้าของโครงการ Therapy Dog Thailand เล่าว่า ต้นกำเนิดของโครงการมาจากคุณย่า ซึ่งเป็นผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ไม่ให้ความร่วมมือในการทำกายภาพบำบัดและอารมณ์ของท่านไม่คงที่ จึงทำให้การบำบัดทุกครั้ง นักบำบัดต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษเพื่อให้คุณย่ายอมรับการรักษา แต่ผลที่ได้รับคือ คุณย่ามีกำแพงปิดกั้นการรักษาทุกครั้ง และไม่ยอมกินยาตามที่หมอสั่ง
รวมทั้งยังพบว่าหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 6 เดือน อาการของท่านจะยิ่งย่ำแย่ และภาวะจิตใจจะเปราะบางลง เลยทำให้ต้องคิดวิธีรักษาใหม่ๆ ด้วยการใช้ความรักจากสุนัขมาช่วยบำบัด
โครงการนี้จึงเกิดจากความเชื่อในพลังบำบัดของสุนัข และความต้องการที่จะใช้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เป็นเจ้าของสุนัขและสุนัข ส่งต่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม และผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า
“ช่วงแรกเราดำเนินโครงการด้วยความเชื่อ และค่อยๆ ศึกษาในเรื่องการบำบัดด้วยสุนัขเป็นเวลากว่า 10 ปี พบว่าการฝึกสุนัขให้เป็นนักบำบัดนั้นไม่ได้ทำกันง่ายๆ จนมาเจอกับหลักสูตรขององค์กรต่างประเทศอย่าง Therapy Dog Association Switzerland VTHS ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านการใช้ทีมสุนัขนักบำบัดมารักษาผู้ป่วย และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้เติบโตขึ้นมาได้ โดยเรานำหลักสูตรของเขามาปรับให้เข้ากับบริบทสังคมไทย”
ทั้งนี้ ในการฝึกจะฝึกทั้งเจ้าของสุนัขและสุนัขทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งเจ้าของสุนัขและสุนัขจะต้องผูกพันกันอย่างน้อย 1 ปี โดยใช้เวลาประมาณ 30 ชั่วโมง ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการเรียนรู้และทำความคุ้นเคยในเรื่องบุคลิกลักษณะของผู้สูงวัย ความชื่นชอบของผู้ป่วย ไปจนถึงการรับอารมณ์ที่ไม่คงที่ของผู้ป่วยซึ่งรวมถึงเด็กพิเศษด้วย อย่างไรก็ตามต้องบอกว่า สุนัขมีธรรมชาติของความเป็นนักบำบัดอยู่ในตัว มีทั้งความอบอุ่นและความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเปรียบเหมือนพลังในการเปิดประตูใจให้ผู้ป่วยยอมรับการรักษา”
ใช้ความรัก และความน่ารักทลายกำแพงในใจ
สำหรับวิวัฒนาการของผู้ป่วยที่ผ่านกระบวนการการบำบัดด้วยทีมสุนัขนักบำบัด คุณศิริวรรณ ยกเคสหนึ่งของผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมที่ผ่านการบำบัดด้วยทีมสุนัขนักบำบัด โดยกล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ชอบฟุตบอล เราเลยให้ผู้ป่วยรายนี้ถือลูกบอลและสั่งให้ปล่อย แต่ผู้ป่วยก็ดื้อรั้นต่อคำสั่ง จนเราต้องนำน้องซันเดย์ สุนัขนักบำบัด ซึ่งมีความน่ารักและตัวใหญ่ของเซเลบเมืองไทย คุณมาริสา แอนนิต้า มาช่วยบำบัด และด้วยความน่ารักของสุนัขผนวกกับความสวยของคุณมาริสา ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีความสุข และให้ความร่วมมือในการรักษา อีกทั้ง ยังทำให้ผู้สูงวัยรายนี้สามารถเตะบอลกับสุนัขได้
ขณะที่สถานการณ์ในช่วงโควิดที่ผ่านมา โครงการต้องพัฒนาแพลตฟอร์มแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งเรื่อง educational features ที่ผู้เข้าอบรมสามารถเรียนแบบวิดีโอ หรือไลฟ์สดได้ รวมถึง E-Commerce Platform ที่เข้ามาช่วยในเรื่องการชำระค่าอบรมและแก้ปัญหาการจัดตารางอบรม โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมหลักสูตรและสร้างทีมสุนัขนักบำบัดในปัจจุบันของเรา คือ นักเรียนแพทย์และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านบำบัด เพราะคนเหล่านี้เป็นผู้ที่รู้จักวิธีการบำบัด และสามารถเลือกใช้เครื่องมือบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนอกจากวิธีการบำบัดโดยใช้สนัขแล้ว ยังมีวิธีการบำบัดอื่น ๆ เช่น การบำบัดด้วยเสียงและคนเล่นเครื่องดนตรี ส่วนแผนธุรกิจในอนาคต ทีมงานยังคงเดินหน้าพัฒนาเรื่องการบำบัด และมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการเปิดรับหน่วยงานเอกชน และสร้างแคมเปญต่าง ๆ ให้หลายภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมสัตว์เลี้ยง และสร้างกองทัพสุนัขนักบำบัดให้เป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น โดยทาง NIA ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมในด้านเทคโนโลยี และสนบัสนุนการเปิดแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น