ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่ต้องเผชิญปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำทุกปี โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการทำการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ ทั้งจากสภาพดินที่เป็นดินทราย ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ขณะที่การขยายระบบชลประทานก็ยังไม่ครอบคลุมมากพอ
แต่หากจะรอให้ระบบชลประทานเข้ามาถึงในทุกๆ พื้นที่ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะแต่ละครั้งจะต้องใช้งบประมาณที่สูง รวมทั้งต้องใช้เวลาดำเนินการนาน ทั้งการศึกษา สำรวจ ดังนั้น การที่แต่ละชุมชนมีการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างแหล่งน้ำไว้ใช้ในชุมชนได้เองน่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า
สิงห์อาสา โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีเครือข่ายในการทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสาน จึงได้ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัทในเครือที่อยู่ในพื้นที่ อย่างบริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด พร้อมเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน ร่วมกันจัดทำโครงการ “สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน” เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างบ่อน้ำเป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านไว้ใช้ตลอดทั้งปี โดยมีผู้เชี่ยวชาญอย่างคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น นำองค์ความรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินมาสร้างแหล่งน้ำชุมชนและถ่ายทอดให้ชาวบ้าน สามารถบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้มีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคทั้งในภาวะปกติและในช่วงหน้าแล้ง ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน
สำหรับโครงการ “สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนนี้” ได้เริ่มนำร่องโครงการแรกที่บ้านนาสีนวน ต.ขัวเรียง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น เนื่องจาก ความเหมาะสมในการเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ สำหรับให้ชุมชนได้นำไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับความร่วมมือของชาวบ้านในพื้นที่ ในการช่วยสร้างและดูแลแหล่งน้ำ ประกอบกับยังเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานในเครือตั้งอยู่ โดยมีแผนจะขยายโครงการในเขตพื้นที่ภาคอีสานเพิ่มเติมไปยังจังหวัดมหาสารคามในเดือนมิถุนายน
คุณฌานนท์ โปษยะจินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเชื่อว่านอกเหนือจากการดำเนินงานและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคอีสานแล้ว เป้าหมายสูงสุดคือการได้เห็น “องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน” ทำให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บริษัทมีนโยบายและโครงการต่างๆ มากมายเพื่อดูแลพี่น้องชาวขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ ประกอบกับบริษัทได้ยึดแนวทางในการบริหารธุรกิจตามแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG ของสหประชาชาติ เพื่อปรับให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ อาทิ การดูแลน้ำ การสร้างงานเพื่อเศรษฐกิจที่เติบโต การผลิตและบริโภคอย่างรับผิดชอบ ร่วมลดโลกร้อน และการจับมือกับพันธมิตรเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งการดำเนินโครงการนี้ก็เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวขอนแก่น ให้มีแหล่งน้ำชุมชนไว้ใช้อย่างยั่งยืน และสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้จากการใช้แหล่งน้ำนี้ในการประกอบอาชีพให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัลลิกา ศรีสุธรรม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น ได้ศึกษาพื้นที่ภาคอีสานว่ามีลักษณะเป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำและระบบโครงข่ายชลประทานที่ไม่สอดคล้องกับขนาดของพื้นที่ มีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค ทำการเกษตร กระบวนการเติมน้ำใต้ดินจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งแบ่งออกเป็นรูปแบบบ่อเปิดและบ่อปิด ตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยบ่อเปิดจะเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ทุกคนสามารถผันน้ำไปใช้ได้ตลอดทั้งปี ในขณะที่บ่อปิดจะใช้วิธีขุดให้ลึกถึงชั้นบาดาลแล้วฝังท่อลงไป เพื่อช่วยเติมความชุ่มชื้นให้แก่ดินโดยรอบ เมื่อมีน้ำเพียงพอ ดินมีความชุ่มชื้น การปลูกพืชก็จะได้ผล ซึ่งทางมข. ได้ส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกรปลูกพืชที่ยึดเกาะดิน ป้องกันน้ำหลากและเป็นพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด ได้แก่ ต้นยางนา, ไผ่ซางหม่น และแฝกพันธุ์อินเดีย ซึ่งนอกจากได้ใช้ประโยชน์ในการช่วยยึดเกาะหน้าดินบริเวณบ่อ แล้วยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชุมชนได้อีกด้วย
สร้างโมเดลต้นแบบขยายพื้นที่การพัฒนา
คุณอรรถสิทธิ์ พรหมสุข ผู้จัดการฝ่ายงานกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า “เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ที่สิงห์อาสาพร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบันได้ลงพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องภาคอีสานจากภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยภารกิจที่ผ่านมาเราได้แจกจ่ายน้ำสะอาดให้กับชาวบ้านหลายชุมชน ติดตั้งธนาคารน้ำสิงห์ ซึ่งเป็นแท้งค์น้ำให้ชาวบ้านได้มีน้ำกินน้ำใช้ รวมถึงทำท่อประปาเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำจากภูเขาเข้าสู่หมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล โดยได้จะกระจายความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัยแล้งทั่วทั้ง 20 จังหวัดในภาคอีสาน และเพื่อยกระดับการช่วยเหลือให้มีความยั่งยืนมากขึ้น รวมทั้งสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วทั้งประเทศในอนาคตได้
“โครงการสิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน ถือเป็นการขยับความช่วยเหลือไปสู่ต้นตอปัญหามากขึ้น เพื่อให้แต่ละชุมชนสามารถสร้างแหล่งน้ำของตัวเองได้ โดยเฉพาะการได้ผู้เชี่ยวชาญและมีองค์ความรู้อย่างคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น มาเป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจไปให้คนในชุมชน ซึ่งหากสามารถแก้ปัญหาและทำให้คนในชุมชนมีน้ำกินน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี ก็จะใช้โมเดลนี้เป็นต้นแบบในการพัฒนานี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจากการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือสังคมมาตลอดสิบปี ทำให้ได้รับทราบปัญหาในแต่ละพื้นที่ และมีการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาศึกษาต่อว่า โครงการไหนที่สามารถนำมาต่อยอดความช่วยเหลือให้เกิดเป็นความยั่งยืนได้มากขึ้น รวมทั้งการต่อยอดความช่วยเหลือในแต่ละพื้นที่เพื่อให้สามารถสร้างประโยชน์ที่หลากหลายมิติมากขึ้น เช่น การลงพื้นที่เพื่อช่วยกำจัดผักตบชวาเพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วมในช่วงน้ำหลาก ก็จะมีการนำผักตบชวาที่ได้ ไปให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น นำไปทำทรายแมว ทำปุ๋ย หรือทำงานจักสานของชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาให้ชุมชนได้ ยังสามารถต่อยอดเพื่อสร้างรายได้กลับเข้ามาให้คนในชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย”
สำหรับเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ,มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร,มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จะดำเนินงานตามพันธกิจ สร้างแนวร่วมในการดูแลประเทศที่ประกาศไว้ โดยจะเฝ้าระวัง ลงพื้นที่สำรวจและเข้าช่วยเหลือบริเวณที่ประสบภัยแล้ง หรือประสบปัญหาอื่นๆ ใน 20 จังหวัดภาคอีสานต่อไป
ทั้งนี้ สิงห์อาสาจะช่วยสนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การสร้างแหล่งน้ำชุมชนขยายพื้นที่ครอบคลุมทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรผู้ใช้ได้มีโอกาสประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างเต็มที่ พร้อมเป็นกำลังใจให้แก่ชาวบ้านต่อไป เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น