แม้กระแสเรื่องของความยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์ที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ ทั้งแบรนด์ รวมถึงผู้บริโภคที่เริ่มตระหนักถึงเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ที่เริ่มเห็นการออกมาขับเคลื่อนรณรงค์ให้ลดการใช้โฟมหรือพลาสติกลง และหันมาใช้วัสดุจากกระดาษหรือไบโอพลาสติกมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อโลกให้น้อยที่สุด
แต่ในมุมของผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมแพกเกจจิ้งเอง กลับมองเห็นความท้าทายหลายอย่างกับการที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่จุดที่มีการใช้ Sustainable Packaing ได้อย่างแพร่หลายไปในระดับแมสเหมือนหลายๆ ประเทศในยุโรป ถึงแม้ว่าตัวผู้ผลิตจะมีความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยีการผลิต ขณะที่ธุรกิจ แบรนด์ หรือแม้แต่เอสเอ็มอีบางกลุ่ม รวมไปถึงผู้บริโภคเองก็เริ่มมีความตระหนักที่อยากจะดูแลสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับพลาสติกหรือโฟม ทำให้ตลาดยังไม่สามารถขยายตัวในวงกว้างได้ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถแบกรับไหว แม้เทรนด์จะเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี แต่สัดส่วนในการใช้เมื่อเทียบกับตลาดแพกเกจจิ้งภาพใหญ่ยังถือว่าเล็กมาก และการเติบโตส่วนใหญ่ยังเติบโตมาจากฝั่งของโฟมเป็นหลัก
คุณชัยรัตน์ จินานันท์ กรรมการบริหาร หงส์ไทยบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตและออกแบบบรรจุภัณฑ์กระดาษมากว่า 40 ปี ให้ข้อมูลว่า พัฒนาการด้านบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทยยังตามหลังประเทศที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้สำเร็จแล้วอย่างในยุโรปถึงกว่า 10-15 ปี โดยปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ คือ การไม่ได้รับการสนับสนุนในเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ไม่มีการลดภาษีเพื่อช่วยเหลือทั้งในฝั่งผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการที่เลือกใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก โดยทุกวันนี้การนำเข้ากระดาษเพื่อมาทำบรรจุภัณฑ์ต้องเสียภาษีนำเข้า 3-5% ขณะที่การนำเข้าเม็ดพลาสติกกลับไม่ต้องเสียภาษี หรือแม้แต่การเข้าถึงสินเชื่อในกลุ่ม Green Industry ที่ยังมองไม่ครอบคลุมมาถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ส่วนใหญ่จะเน้นให้สินเชื่อในกลุ่มของพลังงานทดแทน หรือในลักษณะของการติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นหลัก
“ปัจจุบันภาครัฐมีเพียงการรณรงค์การขอความร่วมมือ หรือแม้แต่การเริ่มบังคับเพื่อเลิกใช้พลาสติกแบบคร้ังเดียวทิ้ง แต่ไม่ได้มีมาตรการสนับสนุนหรือช่วยเหลืออะไรให้กับทั้งผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มใหญ่ที่มีการใช้งานเช่น ในกลุ่มสตรีทฟู้ดส์ หรือร้านขายอาหารตามสั่งต่างๆ ซึ่งขายอาหารในราคาไม่แพง แต่หากต้องมาแบกรับค่าแพกเกจ ก็อาจจะต้องผลักภาระไปให้กับผู้บริโภค เช่น การคิดค่าแพกเกจเพิ่มเติมสำหรับการห่อกลับบ้านเพิ่มเติม ประกอบกับความแตกต่างของกล่องโฟมที่ราคาใบละ 40 สตางค์ ขณะที่กล่องกระดาษ ราคาอยู่ที่ 1.40 บาท หรือกล่องชานอ้อยเพิ่มไปเป็น 2.40 บาท ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้และส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้ภาชนะกล่องโฟมที่ราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว”
ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้การขับเคลื่อนการใช้ Sustainable Packaging ในปัจจุบันของไทย ยังคงอยู่ในกลุ่ม Niche Markrt จากแบรนด์ใหญ่ๆ เป็นหลัก เนื่องจากมีความสามารถในการจ่าย รวมทั้งมีการขับเคลื่อนนโยบายมาจากทางฝั่งของโกลบอล แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงการใช้ในเชิงภาพลักษณ์ที่ราวๆ 20-30% ของแพกเกจทั้งหมด ยังไม่สามารถเปลี่ยนทั้ง 100% ได้ รวมถึงกลุ่ม SME ที่อยากเจาะตลาดผู้บริโภคในกลุ่มพรีเมียมที่ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเทียบกับภาพรวมตลาดในเชิงปริมาณแล้วยังมีสัดส่วนไม่ถึง 10%
ส่วนสาเหตุที่ในต่างประเทศสามารถขับเคลื่อนเหล่านี้ได้สำเร็จ มาจากปัจจัยหลักที่รัฐบาลในประเทศนั้นให้การสนบัสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่ของการลดภาษีทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้ หรือแม้แต่การกำหนดช่องว่างในการคิดค่าบริหารจัดการขยะจากวัสดุในกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวัสดุจากโฟมหรือพลาสติกที่มีความแตกต่างกัน เพื่อจูงใจให้มีการหันมาใช้วัสดุที่ดีต่อโลกมากขึ้น ขณะที่ภาคประชนเองก็ยินดีที่จะจ่ายเพื่อแลกกับการได้ดูแลโลก ส่วนประเทศไทยยังไม่มีการบริหารจัดการในเรื่องเหล่านี้ ขณะที่การตระหนักก็มีลักษณะเหมือนเป็นกระแสที่ไม่จริงจัง เช่น การรณรงค์ใช้หลอดกระดาษเพื่อทดแทนพลาสติก เพื่อต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล แม้เริ่มเห็นมีผู้ผลิตหลายรายทำหลอดกระดาษออกมา แต่เมื่อไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ ก็ควรมีการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ใช้งานด้ดีข้ึน ทั้งๆ ที่ภาครัฐมีหน่วยงานที่สามารถวิจัยและพัฒนาที่สามารถต่อยอดการใช้งานอย่างจริงจังได้ แต่กลับไม่มีการดำเนินการเพื่อสานต่อและยังมีการใช้หลอดพลาสติกกันแพร่หลายเช่นเดิม ซึ่งถือเป็นเครื่องสะท้อนที่ชัดเจนถึงการไม่ได้ขับเคลื่อนมิติเหล่านี้อย่างจริงจัง