เพราะ ‘Food Waste คือทรัพยากร’ กับการต่อยอดสู่วัตถุดิบผลิตพลาสติกชีวภาพแทนพืชพลังงาน

แม้ปัจจุบันจะเริ่มมีการรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติกลง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริง พลาสติกก็ยังถือว่ามีความจำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เริ่มมีการหันไปหาทางเลือก ด้วยการใช้พลาสติกชีวภาพ  (ไบโอพลาสติก)​ ซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะผลิตจากวัตถุดิบที่เป็นพืชพลังงานทดแทนการใช้น้ำมันปิโตรเลียม และสามารถย่อยสลายได้เร็วกว่าพลาสติกทั่วไป

ขณะที่การผลิตพลาสติกชีวภาพในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้วิธีการปลูกพืชพลังงานทดแทนต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ อาทิ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ซึ่งแม้จะเป็นทางเลือกที่ดี แต่อีกทางหนึ่งก็กระทบกับ Supply ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความกังวลของโลกอยู่เช่นเดียวกัน

ให้มอง Food Waste เป็นทรัพยากร

Krungthai COMPASS จึงได้นำเสนอโซลูชันส์ที่ดีกว่า คือ การนำขยะอินทรีย์ หรือขยะอาหาร และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่างๆ ซึ่งจัดว่าเป็น Food Waste ประเภทหนึ่ง มาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับ Food Waste เหล่านี้ได้เพิ่มขึ้น 3-12 เท่าตัวเลยทีเดียว แทนที่จะถูกนำไปทิ้งฝังกลบ หรืออาจจะนำไปขายเป็นอาหารสัตว์แบบที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายศักยภาพการผลิต โดยไม่สร้างภาระให้กับภาคเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย

ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์ จาก  Krungthai COMPASS กล่าวว่า ประเทศไทยมีขยะอินทรีย์จำพวกขยะอาหารจำนวนกว่า 12 ล้านตันต่อปี ทั้งที่เหลือจากครัวเรือน รวมทั้งเศษผักผลไม้ที่พ่อค้าแม่ค้าขายไม่หมด จากตลาดสดต่างๆ  ซึ่งมีสัดส่วนราว 33-50% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ​ รวมท้ังมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมากถึง 160 ล้านตันต่อปี ทั้งฟางข้าว ใบ/ ยอดอ้อย เหง้ามันสำปะหลัง ลำต้น/ ใบข้าวโพด หรือลำต้นปาล์ม เป็นต้น ซึ่งถือเป็นแหล่งคาร์บอนที่น่าสนใจ หากจะนำมาแปรรูปเป็นสารสำคัญสำหรับการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) และ Polyhydroxyalkanoate (PHA) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติกทั่วไปที่ผลิตจากปิโตรเคมี

การนำ Food Waste เหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติกชีวภาพ ยังมีต้นทุนที่ถูกมาก เมื่อเทียบกับการใช้พืชอาหารแบบเดิม ทำให้ไม่เกิดความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงทางอาหารตามมาด้วย เพราะด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนก็ทำให้พืชอาหารเหล่านี้มีความไม่แน่นอนสูงอยู่แล้ว หากหันมารณรงค์การผลิตพลาสตืกชีวภาพโดยใช้ซัพพลายจาก Food Waste ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาปริมาณขยะจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุดด้วย โดยได้มีการคำนวนว่า หากนำขยะอินทรีย์​จากชุมชนในประเทศที่มี 12.5 ล้านตัน และฟางข้าวที่มีอยู่ 27.7 ล้านตัน มาผลิตเป็นพลาสติก PLA และ PHA จะมีปริมาณพลาสติกชีวภาพ รวมกันกว่า 2.79 ล้านตัน โดยขยะอินทรีย์ 1 กิโลกรัม สามารถอัพไซเคิลเป็นพลาสติกชีวภาพได้ 33.2 -55.1 กรัม ขณะที่ฟางข้าว 1 กิโลกรัม จะได้ 59.5 – 75 กรัม

“การทิ้งขยะอาหารและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นำมาทั้งความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อสภาพอากาศของโลกด้วย โดยมีการคำนวนมูลค่าความสูญเปล่าจากการทิ้ง Food Waste ทำให้ทั่วโลกต้องสูญเสียทรัพยากรจำนวนมากไปโดยเปล่าประโยชน์​ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.22 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2015 และหากไม่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะสูญเสียเพิ่มเป็น 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2030 ประกอบกับขยะอาหารในพื้นที่ฝังกลบหรือเทกอง จะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 ถึง 25 เท่า โดยยังไม่รวมถึงการเกิดก๊าซเรือนกระจก และมลพิษที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรอีกด้วย”​ ​​

หลายปัจจัยหนุนตลาดพลาสติกชีวภาพเติบโต

ด้าน ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดพลาสติกชีวภาพโลกยังเติบโตได้อีกมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ อาทิ การบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) ความตื่นตัวของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและดูแลสุขภาพ รวมไปถึงการเร่งปรับตัวของภาคธุรกิจตอบรับกับกระแส ESG และลดก๊าซเรือนกระจก

ตลอดจนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในอนาคต ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพทำให้สามารถนำขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือใช้ในภาคเกษตรที่มีมูลค่าน้อย มา Upcycle เป็นพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) และ Polyhydroxyalkanoate (PHA) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติกทั่วไปที่ผลิตจากปิโตรเคมี โดยคาดมูลค่าตลาด PLA และ PHA ของไทย มีโอกาสเติบโตสูงเฉลี่ยปีละ 40% หรือแตะระดับ 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2026

“หากจะผลักดันอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ PLA และ PHA ของไทยให้สามารถผลิต เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลกได้มากขึ้น การนำขยะอาหารและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาเป็นวัตถุดิบ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการขยายศักยภาพการผลิต โดยที่ไม่สร้างภาระต่อภาคเกษตร สำหรับประเทศไทย คาดว่า มูลค่าตลาดพลาสติกชีวภาพประเภท PLA และ PHA รวมกันมีโอกาสเติบโตแตะ 1.9 หมื่นล้านบาทภายในปี 2026  นอกจากนี้ การนำขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษที่เกิดจากการฝังกลบขยะอินทรีย์และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ซึ่งช่วยสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ของประเทศ และเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า  ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดรับกับเทรนด์ ESG”  

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมด้านวัตถุดิบทางเลือก แต่ผู้ประกอบการในธุรกิจพลาสติกชีวภาพไทยจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการเติบโตธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการทำ R&D กับ Partners ที่แข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้แข่งขันกับพลาสติกทั่วไปได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งค้นหานวัตกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ที่สำคัญ สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้เร็วและได้จริง  ตลอดจนสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในห่วงโซ่การผลิต ทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบและตลาดที่มีศักยภาพรองรับ รวมไปถึงการทดสอบและการขอรับรองมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค”

Stay Connected
Latest News