แนวคิด 3R+Renewable กับพฤติกรรม “การบริโภคที่ยึดโยงจริยธรรม”​ ผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในญี่ปุ่น

ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ​กระทรวงสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายให้บรรดาร้านขายปลีก และร้านอาหารในญี่ปุ่น ลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง 12 ชนิด เช่น ช้อน หลอด มีด หวี แปรงสีฟัน หมวกอาบน้ำ และไม้แขวนเสื้อ เพื่อลดขยะพลาสติกในทะเล โดยมีข้อมูลว่าช่วงปี 2010 ขยะพลาสติกมากกว่า 8 ล้านตัน ได้ไหลลงสู่มหาสมุทรทั่วโลก และคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 พลาสติกในมหาสมุทรจะมีน้ำหนักมากกว่าปลาทั้งมหาสมุทรรวมกันเสียอีก

นำมาซึ่งการส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในญี่ปุ่น ที่มีปริมาณกว่า 5 ตันในแต่ละปี ซึ่งประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์และการใช้บรรจุภัณฑ์ต่อคนสูงเป็นอันดับสองของโลกเลยทีเดียว แม้เริ่มมีการส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศในแถบเอเชีย และจำกัดการนำเข้าที่เข้มงวดขึ้น แต่ความจำเป็นในการแปรรูปพลาสติกในญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

จึงเริ่มเห็นหลายอุตสาหกรรมตื่นตัวในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ที่ให้ความสำคัญต่อแนวคิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการออกแบบ เพื่อให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สร้าง First Impression กับลูกค้าทั้งในแง่การขาย และสะท้อนความใส่ใจโลก ของแต่ละแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้น

ทั้งนี้ เริ่มเห็นความพยายามในการนำผลิตภัณฑ์อื่นมาทดแทนพลาสติกที่ใช้อยู่ในธุรกิจอย่างจริงจัง รวมทั้งยังสร้างแรงผลักดันและขับเคลื่อนแนวคิดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มากกว่าแค่การสะดุดตามผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อ ซึ่งก่อนหน้าเราอาจคุ้นเคยกับ​แนวคิด 3R (Reuse/ Reduce/ Recycle) ที่ได้รณรงค์กันมาเป็นเวลานาน และได้รับการยอมรับแล้วในวงกว้าง ในการสนับสนุนให้นำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น หรือการนำมารีไซเคิลเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการนำมาใช้ใหม่อีกคร้ัง

ขณะที่แนวคิด 3R+Renewable อยู่ภายใต้แนวคิดในความพยายามที่จะไม่สร้างขยะให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก และเริ่มได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ต้นทางจากการเลือกใช้วัสดุทดแทนมาใช้ในการผลิต เพื่อให้วัสดุเหล่านั้นสามารถย่อยสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ แทนการใช้วัสดุที่มาสร้างปริมาณขยะเพิ่มขึ้น และได้กลายมาเป็นกลยุทธ์หลักในการบริหารจัดการด้านพลาสติกของญี่ปุ่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2030 ​ สามารถลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งให้ได้ 25% , ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ในสัดส่วน 60% ต้องสามารถนำมาใช้ใหม่และรีไซเคิลได้,​ รวมทั้งสนับสนุนการใช้พลาสติกชีวมวลเป็นวัตถุดิบให้ได้ 2 ล้าน ขณะที่มีการประเมินความต้องการใช้พลาสติกจะเพิ่มเป็น  2 เท่า  ​

3R + Renewable​ จึงเป็นแนวคิดที่จะส่งผลต่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบันของญี่ปุ่นอย่างมา และยังสะท้อนถึงพฤติกรรม “การบริโภคอย่างยึดจริยธรรม”​ (Ethical consumption)  หรือเข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบของคนญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งผลสำรวจโดยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของญี่ปุ่น (Consumer Affairs Agency) พบว่าในช่วง 5 ปี (ระหว่างปี 2559 – 2563)  ความตระหนักถึงการบริโภคโดยยึดจริยธรรมของคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า ​จากการสำรวจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ในปี 2563

ทำให้บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่หลายรายพยายามผสมผสานแนวคิดนี้ลงไปในการออกแบบ หรือปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ เช่น สินค้าไส้กรอกชื่อดัง SCHAU ESSEN ของบริษัท Nippon Ham Co., Ltd. ที่ฉลองโอกาส 38 ปี ด้วยการเปิดตัวกลุ่มสินค้า  “Eco-Pirotype” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาระด้านสิ่งแวดล้อม​ พร้อมแนะนำบรรจุภัณฑ์รุ่นใหม่ ​Eco Pillow Type หนึ่งในสินค้ากลุ่มนี้ ซึ่งช่วยลดปริมาณการนำวัสดุมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ลงได้ 28% ​รวมทั้งลดการปล่อย CO2 ลงได้กว่า ​ 4,000 ตันต่อปีอีกด้วย และทำให้คนญึ่ปุ่นใ้ห้การตอบรับที่ดี ​

นอกจากนี้ ยังมีบรรจุภัณฑ์น้ำชาเขียวชื่อดังที่จำหน่ายในญี่ปุ่น​ IYEMON ของบริษัท SUNTORY BEVERAGE & FOOD LIMITED ซึ่งได้มีการปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่เป็นแบบไม่มีฉลาก “IYEMON Labeless” แต่ใช้วิธีการการแปะสติ๊กเกอร์ขนาดเล็กเพื่ออธิบายผลิตภัณฑ์ และได้รรับความนิยมมากในญี่ปุ่น ด้วยแนวคิดที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ลดขยะที่เกิดจากฉลาก กลายเป็นต้นแบบให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ในญี่ปุ่นล้วนปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์มาเป็นลักษณะเช่นนี้มาวางจำหน่ายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ​ซึ่งแนวคิดนี้ยังได้รับรางวัล Grand Award สาหรับสาขาบรรจุภัณฑ์ในญี่ปุ่นปี 2564 จากสถาบันส่งเสริมการออกแบบแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ Japan Institute of Design Promotion (JDP) ซึ่งเป็นหน่วยงานท่ีให้ความสำคัญกับดีไซน์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์

Source 

Source

ข้อมูลเพิ่มเติม : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ภาพ :  number24@shutterstock

Stay Connected
Latest News