ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ฝูงปลาแซลมอนชัมเกือบล้านตัวจะแหวกว่ายไปยังแม่น้ำ Yukon ในแถบอลาสก้า ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองทางตอนเหนืออันห่างไกลมาหลายชั่วอายุคน แต่ปีที่แล้วการอพยพของปลาแซลมอนลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสิบของระดับปกติส่งผลให้รัฐต้องนำเข้าปลาแช่แข็งจากภูมิภาคอื่นๆแทน
ขณะเดียวกัน ห่างออกไปทางใต้ประมาณ 400 ไมล์ในอ่าวบริสตอลที่มีการทำประมงปลาแซลมอนซอคอายที่ใหญ่ที่สุดในโลกสร้างสถิติในปีที่แล้วมีปลาแซลมอนมากกว่า 66 ล้านตัวว่ายกลับสู่แม่น้ำในลุ่มน้ำ ยอดรวมนั้นคาดว่าจะถูกทำลายสถิติอีกครั้งในปีนี้
ปลาแซลมอนในมหาสมุทรแปซิฟิกต้องเผชิญกับชะตากรรมที่แตกต่างกันอย่างมาก จึงจำเป็นต้องอพยพจากระบบแม่น้ำสายหนึ่งไปยังอีกระบบหนึ่ง ในขณะที่โลกร้อนขึ้นจากสาเหตุการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพมหาสมุทรกำลังช่วยผลักดันให้เกิดความโกลาหลและการล่มสลายของแหล่งเพาะพันธุ์ปลาแซลมอนเหล่านี้ การอยู่รอดของปลาสายพันธุ์ที่จับได้ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือเหล่านี้ที่ ส่วนใหญ่มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของพื้นที่รอบมหาสมุทรแปซิฟิก
Laurie Weitkamp นักชีววิทยาการประมง เล่าให้ฟังว่า “โดยปกติแล้ว ปลาเหล่านี้ใช้เวลา 2 – 3 ปีในน้ำลึกก่อนที่จะว่ายกลับมายังพื้นที่ชายฝั่งเพื่อวางไข่ แต่ตอนนี้พวกปลาเหล่านี้เป็นจำนวนมากกำลังตายเนื่องจากคลื่นความร้อนจากทะเลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสร้างหายนะให้กับระบบนิเวศของปลาแซลมอน และเมื่อปลาแซลมอนอพยพออกจากพื้นที่ชายฝั่งไปแล้ว พวกมันก็จะว่ายเข้าสู่พื้นที่ที่ Laurie เรียกว่า กล่องดำ หรือ Black box นั่นเอง”
การสำรวจวิจัยปลาแซลมอนครั้งใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ มีเป้าหมายเพื่อให้ความกระจ่างเกี่ยวกับระยะเวลาในวงจรชีวิตของปลาแซลมอน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และรัสเซียที่ได้เก็บตัวอย่างปลาแซลมอนและศึกษาสภาพมหาสมุทรในพื้นที่ประมาณหนึ่งล้านตารางไมล์ โดยนักวิจัยหวังว่าจะทำแผนที่เพื่อศึกษาวิจัยว่าปลาแซลมอนจากแม่น้ำต่างๆใช้เวลาช่วงฤดูหนาวที่ใดเมื่ออาหารมีน้อยและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
Jackie King หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของเรือวิจัยของแคนาดาชื่อ Sir John Franklin กล่าวว่า “เราเห็นอัตราการลดลงจำนวนของปลาแซลมอนอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีอัตราการตายในมหาสมุทรที่สูงด้วย และนั่นเป็นสิ่งที่นักวิจัยประเมินได้ยากที่สุด”
ด้วยความพยายามของเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมในภารกิจดังกล่าว ก็เพื่อที่จะอธิบายให้ได้ว่าปลาแซลมอนจะอยู่รอดในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ร้อนอบอ้าวได้อย่างไร เริ่มต้นในปี 2013 มวลของน้ำอุ่นผิดปกติที่ระเหยอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกินเวลา 3 ปี แผ่กระจายไปทั่วพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางไมล์ และกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ “blob” ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2019
นอกจากปลาแซลมอนที่เผชิญกับนักล่าที่หลากหลายตลอดช่วงเวลาในวงจรชีวิตของพวกมันแล้ว การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้สร้างความเสียหายให้กับลำธารซึ่งเป็นสถานที่ฟักไข่ของปลา ไม่ใช่แค่เพียงอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่รวมถึงความแห้งแล้งที่ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังมีไฟป่าที่มีส่วนทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชายฝั่ง รวมถึงโคลนถล่มในแม่น้ำ โดยสภาวะที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังเปลี่ยนแปลงชีวิตของจำนวนแพลงก์ตอนสัตว์ กุ้งเคย ปลาหมึก และปลาอื่นๆที่เป็นเหยื่อของปลาแซลมอนในมหาสมุทรอีกด้วย
ความร้อนยังมีส่วนเพิ่มอัตราการเผาผลาญ และการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้นยังสามารถลดปริมาณแคลอรี่ในตัวของเหยื่อได้ส่งผลให้พวกมันมีเนื้อน้อยลง ทั้งนี้น้ำที่อุ่นขึ้นทำให้ปลาแซลมอนต้องการอาหารมากขึ้น ในบางครั้งอาจมีอาหารเหลือน้อยลงด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ขณะเดียวกัน ทะเลสาบที่อุณหภูมิน้ำกำลังอุ่นขึ้นอาจจะกำลังทำให้อาหารสำหรับปลาแซลมอนรุ่นใหม่ลดลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ ประชากรปลาแซลมอนยังมีแนวโน้มที่จะอพยพไปยังพื้นที่อื่นๆของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยจำนวนปลาแซลมอนชัมอลาสก้าตะวันตกที่ว่ายกลับมายังแม่น้ำ Yukon และ แม่น้ำ Kuskokwim ทุกปีก กลับมีจำนวนลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลต้องการคำตอบอย่างเร่งด่วน
ด้าน Ed Farley แห่งศูนย์วิทยาศาสตร์การประมงอลาสก้า กล่าวว่า “อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อุ่นขึ้น ซึ่งค่อยๆเคลื่อนตัวไปยังตอนเหนือสู่ทะเลแบริ่งอาจจะกำลังสร้างความยากลำบากให้กับปลาแซลมอนชัมโดยเฉพาะช่วงแรกของวงจรชีวิต และนั่นอาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พวกมันตายจำนวนมาก” เขาเสริมว่า “หากเป็นปลาแซลมอนวัยอ่อนและต้องใช้ชีวิตช่วงแรกอยู่ในมหาสมุทร สิ่งแรกที่มันต้องทำคือเจริญเติบโต แต่สิ่งที่เราสามารถเห็นได้ก็คือปลาแซลมอนวัยอ่อนเหล่านี้ไม่สามารถเพิ่มปริมาณไขมันในตัวมันได้ก่อนฤดูหนาว”
แบบจำลองสภาพภูมิอากาศยังบ่งชี้ว่าคลื่นความร้อนจากทะเลจะเกิดบ่อยขึ้นเมื่อบรรยากาศและมหาสมุทรยังคงอุ่นขึ้น โดย Farley มองว่า ปลาแซลมอนที่แหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นยังเป็น “เรื่องราวของการเอาตัวรอด” โดยจำนวนปลาแซลมอนที่ลดลงอย่างรุนแรงเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังเป็นตัว “ขับเคลื่อนการตายของปลาแซลมอนจำนวนมาก” นั่นเอง
Farley กล่าวทิ้งท้ายว่า “หากเราจะเข้าใจอนาคตอย่างถ่องแท้ เราต้องเข้าใจว่าสภาพภูมิอากาศกำลังจะส่งผลกระทบต่อปลาเหล่านี้อย่างไร”
credit :
https://thehill.com/policy/equilibrium-sustainability/600280-equilibrium-sustainability-salmon-disappearing-into-north/
https://www.washingtonpost.com/climate-environment/2022/03/28/salmon-alaska-climate-change/