โอลิมปิกฤดูหนาว Beijing 2022 สุดยอด”ต้นแบบความยั่งยืน” ของการจัดงานแข่งขันกีฬาระดับโลก

ได้ชื่อว่าเป็นกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว (Winter Olympics) สิ่งสำคัญสำหรับการจัดการแข่งขันก็คงหนีไม่พ้นการมี “หิมะ” ในปริมาณมากพอที่จะทำให้การแข่งขันกีฬาแต่ละประเภทสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

แม้ว่ามหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาว ครั้งที่ 24 Beijing 2022 ได้ปิดฉากลงไปแล้วเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ แต่ Beijng 2022 Paralympic Winter Games เกมกีฬาฤดูหนาวสำหรับนักกีฬาคนพิการก็ยังคงดำเนินอยู่อย่างดุเดือดและจะจบลงในวันที่ 13 มีนาคมนี้

จากการรายงานของ The Conversation พบว่า ตลอดระยะเวลาของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ผ่านมา มีการใช้ “หิมะเทียม” ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยโอลิมปิก Sochi 2014 ประเทศรัสเซีย ใช้หิมะเทียม 80% โอลิมปิก Pyeongchang 2018 ประเทศเกาหลีใต้ ใช้หิมะเทียมเกือบ 90% และในปีนี้ Beijing 2022 ประเทศจีน ใช้หิมะเทียม 100%

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีผลทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นและรูปแบบของหยาดน้ำฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้แตกต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว Beijing 2022 จึงต้องอาศัยการทำหิมะเทียมขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาหิมะจริงที่ตกลงมาในปริมาณน้อยทั้งในเมืองปักกิ่งและ Zhangjiakou ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่จัดแข่งขัน

ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายได้ตั้งคำถามถึงความยั่งยืนของการจัดการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้อย่างกว้างขวาง และได้มีการคาดการณ์ว่าการผลิตหิมะเทียมต้องใช้น้ำ 49 ล้านแกลลอนจึงจะเพียงพอสำหรับการทำลู่ alpine runs แต่ Carmen de Jong ศาสตราจารย์ด้านอุทกวิทยา แห่งมหาวิทยาลัย Strasbourg ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นว่าปริมาณน้ำเพียง 49 ล้านแกลลอน เพียงพอสำหรับการทำหิมะเทียมสำหรับการแข่งขันสกีเพียงลู่เดียวเท่านั้น โดยเขามองว่าเจ้าภาพต้องการน้ำมากถึง 2 ล้านคิวบิกเมตร หรือราว 500 ล้านแกลลอน”

สำหรับการทำหิมะเทียมใน Beijing 2022 ทางเจ้าภาพได้เตรียมห้องสำหรับเครื่องทำหิมะเทียมไว้ 7 ห้อง พร้อมกับสถานีปั้มน้ำที่จะส่งน้ำขึ้นไปยังภูเขาด้วยปั้มแรงดันสูง จากนั้นใช้ลม เป่าผ่านพัดลม และเป่าด้วยปืนฉีดหิมะมากกว่า 350 กระบอก โดยปกติการทำหิมะเทียมจะใช้สารเคมีเพื่อช่วยในการเกาะตัว แต่ทางเจ้าภาพจีนก็ออกมาเผยว่าการทำหิมะใน Beijing 2022 ไม่มีการใช้สารเคมีช่วยเกาะตัวแต่อย่างใด นอกจากนี้ เจ้าภาพยังได้ชี้แจงอีกว่าได้นำน้ำจากแหล่งน้ำที่กำหนดไว้เท่านั้นมาใช้ในการผลิตหิมะเทียมนั่นก็คืออ่างเก็บน้ำที่สะสมน้ำฝนและน้ำทิ้งเป็นเวลานานโดยไม่ได้แตะแหล่งน้ำทั่วไปที่ใช้ผลิตเป็นน้ำดื่มเลย

ต้นไม้ทุกต้นที่ถูกย้ายออกไปจากบริเวณก่อสร้างสนามเพื่อใช้ในการแข่งขัน จะต้องติด QR โค๊ตทุกต้นเพื่อจะรู้ว่าถูกย้ายไปปลูกยังที่เตรีบยมไว้ครบทุกต้น

ทางเจ้าภาพยังออกมาเผยอีกว่า Beijing 2022 เป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ยั่งยืนกว่าครั้งที่ผ่านๆมา เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของ the International Olympic Committee (IOC) ที่ได้พัฒนาแผนความยั่งยืนสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกในอนาคตที่มุ่งให้เกิดการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราลองมาดูกันสิว่า เจ้าภาพอย่างประเทศจีน ได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง

1. การแข่งขันที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำ
Beijing 2022 ได้กำหนดแผนการจัดการคาร์บอนในปริมาณต่ำ โดยวางมาตรการทั้ง ”การลดการปล่อยคาร์บอนและการชดเชยคาร์บอน” ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จึงได้กำหนดแผนที่ครอบคลุมแผนพลังงานคาร์บอนต่ำ การขนส่ง และสถานที่จัดการแข่งขัน ก่อนหน้านี้ ได้มีการคาดการณ์ว่า Beijing 2022 จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณ 1.306 ล้านตัน แต่จะมีการคำนวณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงอีกครั้งหลังจบการแข่งขัน

นอกจากนี้สถานที่จัดงานปักกิ่ง 2022 ทั้งหมดจะใช้พลังงานหมุนเวียน โดยมีพลังงานแสงอาทิตย์และลมเป็นแหล่งพลังงานหลักเป็นครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิก และยังนำระบบเครื่องทำความเย็นที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณต่ำมาใช้กับสนามแข่งกีฬาบนลานน้ำแข็ง โดยในปี 2021 ทางเจ้าภาพได้คาดการณ์ว่าสนามแข่งกีฬาบนลานน้ำแข็งทั้ง 4 แห่งจะลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 900 ตัน

ด้านการขนส่ง เจ้าภาพสนับสนุนให้นำรถพลังงานสะอาดมาใช้ในการขนส่งภายในงาน โดยได้จัดให้มีรถพลังงานไฮโดรเจนกว่า 800 คัน รถพลังงานไฟฟ้า 370 คัน รถพลังงานแก๊ซธรรมชาติเกือบ 500 คัน รถยนต์ไฮบริด 1,807 คัน และรถพลังงานปิโตรเลียม (พลังงานสิ้นเปลือง) กว่า 600 คัน และยังนำรถไฟความเร็วสูงมาใช้ในการขนส่งผู้ชมอีกด้วย

ขุมพลังงานสะอาดที่จะนำมาใช้ในการแข่งขันปักกิ่งเกมส์ 2022

นอกจากนี้ เจ้าภาพยังได้นำสนามแข่งและสนามฝึกซ้อมที่ใช้งานไปใน Beijing 2008 Olympics กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อลดการก่อสร้างสนามใหม่ และยังลดการปล่อยคาร์บอนได้อีกด้วย
อีกสิ่งหนึ่งในแผนการจัดการแข่งขัน Beijing 2008 Olympics ของจีนคือการเตรียมการชดเชยคาร์บอน โดยการปล่อยคาร์บอนตลอดการแข่งขัน ได้ถูกชดเชยผ่านการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้และการบริจาคคาร์บอนเครดิต ซึ่งเมื่อปี 2014 ทางการจีนได้ใช้พื้นที่ในปักกิ่งและจางเจียโข่ว ปลูกป่า 47,333 และ 33,000 เฮกตาร์ตามลำดับ ทำให้เกิดการกักเก็บคาร์บอนป่าไม้ประมาณ 530,000 และ 570,000 ตัน เป็นการสร้างออกซิเจนล่วงหน้าเพื่อใช้ชดเชยเครดิตคาร์บอนในการแข่งขัน

2. การปกป้องระบบนิเวศน์และการฟื้นฟู
Beijing 2022 ยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ต้นไม้และสัตว์ป่า ทั้งนี้ ก็เนื่องจากสถานที่แข่งขันบางแห่งตั้งอยู่ใกล้กับถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าคุ้มครอง ทางเจ้าภาพจึงพยายามเต็มที่ในการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าและถิ่นอาศัย เช่น กำหนดให้มีการควบคุมมลพิษทางแสงสำหรับการก่อสร้างสนามแข่งในเวลากลางคืน มีการติดตั้งรังนกเทียมกว่า 600 รัง และจำกัดจำนวนการตัดต้นไม้โดยรอบสนามแข่ง

นอกจากนี้ นักพัฒนายังใช้ตาข่ายอย่างดีเพื่อรักษาต้นไม้พื้นเมืองกว่า 100 ต้น และรักษาโรคเกี่ยวกับต้นไม้หลายชนิด แม้ว่าต้นไม้บางต้นจะต้องถูกรื้อถอนออกไป แต่ต้นไม้เหล่านั้นก็ถูกย้ายไปที่อื่นแทน

3. การพัฒนาภูมิภาคใหม่
การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวยังส่งผลดีให้กับเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นแก่เมืองที่จัดการแข่งขันอย่าง Beijing, Yanqing และ Zhangjiakou ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชุมชนท้องถิ่นลดลง โดย Beijing 2022 ยังผลักดันให้เกิดการปรับปรุงระบบรถไฟความเร็วสูง การพัฒนาถนนเส้นใหม่ๆ และแม้แต่การเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมไฮโดรเจน

เจ้าภาพลงทุนสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูลเชื่อมปักกิ่งกับจางเจี่ยจากเดิมต้องใช้เวลาเดินทาง 3 ชม.เหลือเพียง 47 นาทีและขนส่งผู้โดยสารครั้งละหลายร้อยคน

โดยพื้นที่ดังกล่าวยังเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นการตกปลา ปีนเขา แคมปิ้ง เดินป่า และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

4. การอนุรักษ์น้ำ
การอนุรักษ์น้ำยังเป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่เจ้าภาพได้นำระบบการจัดการแหล่งน้ำมาใช้ด้วยเป้าหมายที่ต้องการปกป้องแหล่งน้ำ รีไซเคิลแหล่งน้ำบำบัด และควบคุมการเกิดน้ำท่วม

นอกจากนี้ สนามแข่งสองในสามโซนยังได้ “อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางน้ำแบบบูรณาการไว้ในการวางแผน การออกแบบ การก่อสร้าง และการดำเนินงานของสถานที่” ทั้งสองโซนได้บำบัดน้ำเสียในพื้นที่และปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยน้ำที่ได้สามารถนำไปใช้ในการรดน้ำถนน รดน้ำต้นไม้ และการทำหิมะ ทั้งนี้ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้น้ำ เจ้าภาพจะเปิดเผยหลังการแข่งขันจบลง

กล่าวได้ว่า เจ้าภาพเองก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของ IOC ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

อย่างไรก็ดี แฟนกีฬาที่สนใจกีฬาฤดูหนาวยังสามารถรับชมและให้กำลังใจนักกีฬาใน Beijng 2022 Paralympic Winter Games ได้จนถึงวันที่ 13 มีนาคมนี้

credit :

https://theconversation.com/beijing-2022-environmental-cost-of-worlds-first-winter-olympics-without-natural-snow-expert-q-a-176717

https://www.dw.com/en/2022-beijing-games-how-real-is-your-snow/a-60565263

https://www.tomorrowsworldtoday.com/2022/01/31/2022-beijing-winter-olympics-most-sustainable-games-ever/

brightly.eco/winter-olympics-sustainability/

Stay Connected
Latest News