ได้ชื่อว่าเป็นกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว (Winter Olympics) สิ่งสำคัญสำหรับการจัดการแข่งขันก็คงหนีไม่พ้นการมี “หิมะ” ในปริมาณมากพอที่จะทำให้การแข่งขันกีฬาแต่ละประเภทสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
แม้ว่ามหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาว ครั้งที่ 24 Beijing 2022 ได้ปิดฉากลงไปแล้วเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ แต่ Beijng 2022 Paralympic Winter Games เกมกีฬาฤดูหนาวสำหรับนักกีฬาคนพิการก็ยังคงดำเนินอยู่อย่างดุเดือดและจะจบลงในวันที่ 13 มีนาคมนี้
จากการรายงานของ The Conversation พบว่า ตลอดระยะเวลาของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ผ่านมา มีการใช้ “หิมะเทียม” ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยโอลิมปิก Sochi 2014 ประเทศรัสเซีย ใช้หิมะเทียม 80% โอลิมปิก Pyeongchang 2018 ประเทศเกาหลีใต้ ใช้หิมะเทียมเกือบ 90% และในปีนี้ Beijing 2022 ประเทศจีน ใช้หิมะเทียม 100%
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีผลทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นและรูปแบบของหยาดน้ำฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้แตกต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว Beijing 2022 จึงต้องอาศัยการทำหิมะเทียมขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาหิมะจริงที่ตกลงมาในปริมาณน้อยทั้งในเมืองปักกิ่งและ Zhangjiakou ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่จัดแข่งขัน
ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายได้ตั้งคำถามถึงความยั่งยืนของการจัดการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้อย่างกว้างขวาง และได้มีการคาดการณ์ว่าการผลิตหิมะเทียมต้องใช้น้ำ 49 ล้านแกลลอนจึงจะเพียงพอสำหรับการทำลู่ alpine runs แต่ Carmen de Jong ศาสตราจารย์ด้านอุทกวิทยา แห่งมหาวิทยาลัย Strasbourg ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นว่าปริมาณน้ำเพียง 49 ล้านแกลลอน เพียงพอสำหรับการทำหิมะเทียมสำหรับการแข่งขันสกีเพียงลู่เดียวเท่านั้น โดยเขามองว่าเจ้าภาพต้องการน้ำมากถึง 2 ล้านคิวบิกเมตร หรือราว 500 ล้านแกลลอน”
สำหรับการทำหิมะเทียมใน Beijing 2022 ทางเจ้าภาพได้เตรียมห้องสำหรับเครื่องทำหิมะเทียมไว้ 7 ห้อง พร้อมกับสถานีปั้มน้ำที่จะส่งน้ำขึ้นไปยังภูเขาด้วยปั้มแรงดันสูง จากนั้นใช้ลม เป่าผ่านพัดลม และเป่าด้วยปืนฉีดหิมะมากกว่า 350 กระบอก โดยปกติการทำหิมะเทียมจะใช้สารเคมีเพื่อช่วยในการเกาะตัว แต่ทางเจ้าภาพจีนก็ออกมาเผยว่าการทำหิมะใน Beijing 2022 ไม่มีการใช้สารเคมีช่วยเกาะตัวแต่อย่างใด นอกจากนี้ เจ้าภาพยังได้ชี้แจงอีกว่าได้นำน้ำจากแหล่งน้ำที่กำหนดไว้เท่านั้นมาใช้ในการผลิตหิมะเทียมนั่นก็คืออ่างเก็บน้ำที่สะสมน้ำฝนและน้ำทิ้งเป็นเวลานานโดยไม่ได้แตะแหล่งน้ำทั่วไปที่ใช้ผลิตเป็นน้ำดื่มเลย
ทางเจ้าภาพยังออกมาเผยอีกว่า Beijing 2022 เป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ยั่งยืนกว่าครั้งที่ผ่านๆมา เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของ the International Olympic Committee (IOC) ที่ได้พัฒนาแผนความยั่งยืนสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกในอนาคตที่มุ่งให้เกิดการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราลองมาดูกันสิว่า เจ้าภาพอย่างประเทศจีน ได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง
1. การแข่งขันที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำ
Beijing 2022 ได้กำหนดแผนการจัดการคาร์บอนในปริมาณต่ำ โดยวางมาตรการทั้ง ”การลดการปล่อยคาร์บอนและการชดเชยคาร์บอน” ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จึงได้กำหนดแผนที่ครอบคลุมแผนพลังงานคาร์บอนต่ำ การขนส่ง และสถานที่จัดการแข่งขัน ก่อนหน้านี้ ได้มีการคาดการณ์ว่า Beijing 2022 จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณ 1.306 ล้านตัน แต่จะมีการคำนวณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงอีกครั้งหลังจบการแข่งขัน
นอกจากนี้สถานที่จัดงานปักกิ่ง 2022 ทั้งหมดจะใช้พลังงานหมุนเวียน โดยมีพลังงานแสงอาทิตย์และลมเป็นแหล่งพลังงานหลักเป็นครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิก และยังนำระบบเครื่องทำความเย็นที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณต่ำมาใช้กับสนามแข่งกีฬาบนลานน้ำแข็ง โดยในปี 2021 ทางเจ้าภาพได้คาดการณ์ว่าสนามแข่งกีฬาบนลานน้ำแข็งทั้ง 4 แห่งจะลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 900 ตัน
ด้านการขนส่ง เจ้าภาพสนับสนุนให้นำรถพลังงานสะอาดมาใช้ในการขนส่งภายในงาน โดยได้จัดให้มีรถพลังงานไฮโดรเจนกว่า 800 คัน รถพลังงานไฟฟ้า 370 คัน รถพลังงานแก๊ซธรรมชาติเกือบ 500 คัน รถยนต์ไฮบริด 1,807 คัน และรถพลังงานปิโตรเลียม (พลังงานสิ้นเปลือง) กว่า 600 คัน และยังนำรถไฟความเร็วสูงมาใช้ในการขนส่งผู้ชมอีกด้วย
นอกจากนี้ เจ้าภาพยังได้นำสนามแข่งและสนามฝึกซ้อมที่ใช้งานไปใน Beijing 2008 Olympics กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อลดการก่อสร้างสนามใหม่ และยังลดการปล่อยคาร์บอนได้อีกด้วย
อีกสิ่งหนึ่งในแผนการจัดการแข่งขัน Beijing 2008 Olympics ของจีนคือการเตรียมการชดเชยคาร์บอน โดยการปล่อยคาร์บอนตลอดการแข่งขัน ได้ถูกชดเชยผ่านการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้และการบริจาคคาร์บอนเครดิต ซึ่งเมื่อปี 2014 ทางการจีนได้ใช้พื้นที่ในปักกิ่งและจางเจียโข่ว ปลูกป่า 47,333 และ 33,000 เฮกตาร์ตามลำดับ ทำให้เกิดการกักเก็บคาร์บอนป่าไม้ประมาณ 530,000 และ 570,000 ตัน เป็นการสร้างออกซิเจนล่วงหน้าเพื่อใช้ชดเชยเครดิตคาร์บอนในการแข่งขัน
2. การปกป้องระบบนิเวศน์และการฟื้นฟู
Beijing 2022 ยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ต้นไม้และสัตว์ป่า ทั้งนี้ ก็เนื่องจากสถานที่แข่งขันบางแห่งตั้งอยู่ใกล้กับถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าคุ้มครอง ทางเจ้าภาพจึงพยายามเต็มที่ในการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าและถิ่นอาศัย เช่น กำหนดให้มีการควบคุมมลพิษทางแสงสำหรับการก่อสร้างสนามแข่งในเวลากลางคืน มีการติดตั้งรังนกเทียมกว่า 600 รัง และจำกัดจำนวนการตัดต้นไม้โดยรอบสนามแข่ง
นอกจากนี้ นักพัฒนายังใช้ตาข่ายอย่างดีเพื่อรักษาต้นไม้พื้นเมืองกว่า 100 ต้น และรักษาโรคเกี่ยวกับต้นไม้หลายชนิด แม้ว่าต้นไม้บางต้นจะต้องถูกรื้อถอนออกไป แต่ต้นไม้เหล่านั้นก็ถูกย้ายไปที่อื่นแทน
3. การพัฒนาภูมิภาคใหม่
การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวยังส่งผลดีให้กับเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นแก่เมืองที่จัดการแข่งขันอย่าง Beijing, Yanqing และ Zhangjiakou ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชุมชนท้องถิ่นลดลง โดย Beijing 2022 ยังผลักดันให้เกิดการปรับปรุงระบบรถไฟความเร็วสูง การพัฒนาถนนเส้นใหม่ๆ และแม้แต่การเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมไฮโดรเจน
โดยพื้นที่ดังกล่าวยังเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นการตกปลา ปีนเขา แคมปิ้ง เดินป่า และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
4. การอนุรักษ์น้ำ
การอนุรักษ์น้ำยังเป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่เจ้าภาพได้นำระบบการจัดการแหล่งน้ำมาใช้ด้วยเป้าหมายที่ต้องการปกป้องแหล่งน้ำ รีไซเคิลแหล่งน้ำบำบัด และควบคุมการเกิดน้ำท่วม
นอกจากนี้ สนามแข่งสองในสามโซนยังได้ “อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางน้ำแบบบูรณาการไว้ในการวางแผน การออกแบบ การก่อสร้าง และการดำเนินงานของสถานที่” ทั้งสองโซนได้บำบัดน้ำเสียในพื้นที่และปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยน้ำที่ได้สามารถนำไปใช้ในการรดน้ำถนน รดน้ำต้นไม้ และการทำหิมะ ทั้งนี้ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้น้ำ เจ้าภาพจะเปิดเผยหลังการแข่งขันจบลง
กล่าวได้ว่า เจ้าภาพเองก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของ IOC ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ดี แฟนกีฬาที่สนใจกีฬาฤดูหนาวยังสามารถรับชมและให้กำลังใจนักกีฬาใน Beijng 2022 Paralympic Winter Games ได้จนถึงวันที่ 13 มีนาคมนี้
credit :
https://theconversation.com/beijing-2022-environmental-cost-of-worlds-first-winter-olympics-without-natural-snow-expert-q-a-176717
https://www.dw.com/en/2022-beijing-games-how-real-is-your-snow/a-60565263
https://www.tomorrowsworldtoday.com/2022/01/31/2022-beijing-winter-olympics-most-sustainable-games-ever/
brightly.eco/winter-olympics-sustainability/