โฉมหน้า ‘Urban Sequoias’ ตึกระฟ้าแห่งอนาคต สามารถฟอกอากาศได้ปีละ 1 พันตัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยายตัวของเมืองเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษด้านต่างๆมากขึ้นตามมา

จากการศึกษาของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยพบว่าภายในปี 2573 จะมีแนวโน้มจำนวนประชากรในเมืองที่เพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านคน ขณะเดียวกัน เมืองขนาดกลางและขนาดเล็กมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนด้านต่างๆที่ดีโดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ด้วยเหตุดังกล่าว บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือเจ้าของโครงการหลายแห่งจึงพยายามออกแบบอาคารที่ผสานเทคโนโลยีในการดักจับมลพิษทางอากาศมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาสภาพอากาศ โดยบริษัทด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบระดับโลกอย่าง Skidmore, Owings & Merrill (SOM) ที่ตั้งอยู่ในชิคาโกยืนหนึ่งเรื่องการออกแบบได้เผยภาพคอนเซ็ปต์ตึกสูงสำหรับเมืองในอนาคตที่มีชื่อว่า “Urban Sequoias” ที่ไม่เพียงแต่โดดเด่นด้านรูปทรงเท่านั้น แต่ยังสามารถดักจับคาร์บอนและกรองอากาศให้บริสุทธิ์ได้อีกด้วย โดยจะสามารถกำจัดคาร์บอนในบรรยากาศได้มากถึง 1,000 ตันต่อปี

แต่ละตึกจะถูกสร้างด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีคุณสมบัติในการดูดซับคาร์บอนอย่าง ไม้ และเฮมป์กรีต (วัสดุก่อสร้างชีวภาพที่ได้จากการผสมแกนเฮมพ์หรือเส้นใยเฮมพ์กับปูนไลม์และน้ำ หรือเรียกว่า เฮมพ์คอนกรีต) ผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยในการดักจับอากาศ โดยภายในตัวอาคารจะมี “stack effect” ที่มีหน้าที่ในการผลักดันอากาศไปยังส่วนตรงกลางอาคารเพื่อเข้าสู่กระบวนการแยกคาร์บอน ขณะเดียวกันยังมีส่วนส่งเสริมระบบพลังงานคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของอาคารอีกด้วย

SOM ยังอ้างว่าการออกแบบตึก Urban Sequoias ที่มีอายุการใช้งานได้ประมาณ 60 ปี จะสามารถดูดซับคาร์บอนที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศได้ถึง 4 เท่า โดยที่คาร์บอนที่ดักจับได้นั้นยังสามารถนำไปใช้ในการผลิตวัสดุชีวภาพสำหรับการก่อสร้างถนน ทางเดิน ท่อต่างๆ และอื่นๆที่ใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เป็นต้น

ด้าน Kent Jackson พาร์ทเนอร์ของ SOM กล่าวว่า “นี่เป็นเส้นทางในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ในวันนี้ ลองนึกภาพโลกที่มีสิ่งปลูกสร้างที่ช่วยรักษาโลกได้ซิว่าจะเป็นยังไง”

SOM ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ทาง SOM คาดว่าคาร์บอนจะถูกกำจัดได้มากถึง 120 ตันต่อตารางกิโลเมตร (หรือ 46 ตันต่อตารางเมตร) หากภูมิทัศน์ของเมืองในส่วนของ hardscapes เปลี่ยนมาเป็นสวน เมืองถูกสร้างขึ้นใหม่โดยเน้นการมีภูมิประเทศที่ดูดซับคาร์บอน และถนนหนทางได้รับการปรับปรุงใหม่เพิ่มเติมด้วยการใส่เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน

 

credit :

https://www.trendhunter.com/trends/skyscraper-concepts

https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-10207919/Environment-Skyscraper-design-remove-1-000-TONNES-carbon-atmosphere.html

http://www.tei.or.th/th/highlight_detail.php?event_id=358

Stay Connected
Latest News

สิงห์ เอสเตท สานต่อโครงการ “ปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว” ปีที่ 3 เดินหน้าปลูกป่า 1 ล้าน ตร.ม. สร้างพื้นที่สีเขียว มุ่งสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนครบวงจร ตามปรัชญา “Go Beyond Dreams”