เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ชาวฮินดูทั่วโลกต่างได้ร่วมกันเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญอย่าง Diwali หรือ Deepavali ที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม “เทศกาลต้อนรับปีใหม่” ตามปฏิทินฮินดู โดยครอบครัวของชาวฮินดูโดยเฉพาะในอินเดียจะรวมตัวกันเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการจุดปะทัดและพลุ
ซึ่งแสดงถึงสัญลักษณ์ของความรื่นเริงและความสุข แต่ในทางกลับกันประทัดและพลุเหล่านั้นกลับเป็นสาเหตุของการเพิ่มมลพิษทางอากาศส่งผลให้คุณภาพอากาศของเมืองต่างๆในอินเดียแย่ลง
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่ามลพิษทางอากาศได้กลายเป็นปัญหาร้ายแรงในเมืองต่างๆของอินเดียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2020 เมืองเดลีมียอดผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศราว 57,000 ราย นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า 20 เมืองของอินเดียเป็นเมืองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลก โดยมีระดับฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่เข้มข้นที่สุดต่อปี
สำนักข่าว BBC รายงานว่า ในช่วงเดือนนี้ของทุกปี เมืองเดลีและเมืองอื่นๆในภาคเหนือของอินเดียประสบปัญหาคุณภาพอากาศที่แย่ลงที่นอกเหนือจากปัจจัยที่เกิดจากการจุดพลุ เช่น การเผาซากพืชโดยชาวไร่ชาวนาในรัฐปัญจาบและรัฐหรยาณา การเผาไหม้ที่เกิดจากยานยนต์ การก่อสร้างและกิจกรรมของภาคอุตสาหกรรมในเมืองเดลีและพื้นที่โดยรอบ และสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคที่เอื้อต่อการดักจับมลพิษในชั้นบรรยากาศ
จากการศึกษาการเกิดฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ในปี 2018 โดยอาศัยข้อมูลจากดาวเทียมของ Nasa ที่รวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2013-2016 ใน 5 พื้นที่ของเมืองเดลี พบว่า การเกิดฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน มีสาเหตุมาจากการจุดพลุเป็นปัจจัยสำคัญเนื่องจากพบค่าความเข้มข้นของฝุ่นจิ๋วที่สูงเกือบ 40% ภายในวันที่สองของการเฉลิมฉลอง (การเฉลิมฉลองมีทั้งสิ้น 5 วัน) และเมื่อพิจารณาเป็นช่วงเวลา พบว่า ช่วงหลัง 18.00 น. จะพบความเข้มข้นของ PM2.5 ถึง 100%
ด้านศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในเมืองเดลี ยังรายงานอีกว่า ความเข้มข้นของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาล Diwali ในปี 2018 ปี 2019 และปี 2020 โดยเฉพาะในเมืองหลวง
อย่างไรก็ดี หลายรัฐของอินเดียก็ได้ออกมาตรการห้ามจำหน่ายและจุดพลุในช่วงเทศกาล Diwali แต่การบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในบางรัฐยังไม่เข้มงวดเท่าใดนัก
Credit : www.bbc.com/news/world-46138064