ทสจ.สระแก้ว ใช้นวัตกรรมเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน แก้ปัญหาขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน

จังหวัดสระแก้วมีขยะจากครัวเรือนในปริมาณมากโดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 535.19 ตัน/วัน แม้จะมีการจัดอบรมในโครงการเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้อง แต่จำนวนขยะก็ยังไม่ลดน้อยลง ล่าสุดได้จับมือกับคอร์สแอร์ กรุ๊ป นำนวัตกรรมใหม่มาเปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมัน ด้วยกำลังการผลิตจำนวนพลาสติกแห้งสะอาด 100 กิโลกรัม สามารถผลิตน้ำมันได้ 90 ลิตร


สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว (ทสจ. สระแก้ว) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย เนื่องจากจังหวัดสระแก้วมีขยะจากครัวเรือนในปริมาณมากโดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 535.19 ตัน/วัน จึงมีการจัดอบรมในโครงการเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้อง อีกทั้งการจัดอบรมในครั้งนี้ทสจ. สระแก้ว ยังได้ร่วมมือกับบริษัทคอร์สแอร์ กรุ๊ป ซึ่งถือเป็นหนึ่งในองค์กรภาคเอกชนระดับอินเตอร์ที่มีส่วนสำคัญในการร่วมผลักดันการแปรสภาพและลดปริมาณขยะมูลฝอย รวมถึงลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงที่เป็นการแก้ไข พัฒนา และปรับปรุงด้านการลดปริมาณขยะในระยะยาว

ยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

โดยยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คอร์สแอร์ กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์สแอร์ กรุ๊ป (Corsair Group) ผู้พัฒนาโซลูชั่นธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมที่มีฐานการดำเนินงานทั้งในประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ของคอร์สแอร์ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “เทคโนโลยีไพโรไลซิส (Pyrolysis technologies)” ที่เป็นการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมันชีวภาพขั้นสูง (Advanced Bio-oil) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อร่วมกันพัฒนา และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

นวัตกรรมการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมันชีวภาพขั้นสูง (Advanced Bio-oil) ของคอร์สแอร์ เริ่มจากการลำเลียงขยะพลาสติกลงในเครื่องไพโรไลซิส (Pyrolysis Machine)ที่สามารถรองรับขยะพลาสติกได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก พลาสติกห่อหุ้ม และบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเครื่องจะปล่อยความร้อนเพื่อหลอมพลาสติกให้เกิดควันและก๊าซ ซึ่งไม่ใช่กระบวนการที่เป็นการเผาขยะ เนื่องจากเนื้อพลาสติกไม่ได้ถูกความร้อนจากไฟ จึงไม่ก่อให้เกิดไอพิษลอยสู่ชั้นบรรยากาศ และก๊าซไวไฟที่ได้จากการปล่อยความร้อนจะถูกรวบรวมไปหมุนเวียนเพื่อใช้สร้างความร้อนในขั้นตอนการแปรสภาพขยะพลาสติกต่อไป อีกทั้งควันที่เกิดขึ้นจะลอยผ่านระบบการกลั่นเพื่อเปลี่ยนเป็นของเหลวจนแปรสภาพเป็นน้ำมันชีวภาพ กระบวนการนี้สามารถเปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมันได้สูงถึง 95% โดยพลาสติกที่แห้งสะอาด 100 กิโลกรัม สามารถผลิตน้ำมันได้ 90 ลิตร แต่หากเป็นพลาสติกที่เปียก ความชื้น หรือสกปรก น้ำหนัก 100 กิโลกรัม จะผลิตน้ำมันได้เพียง 50 ลิตร

ด้าน ยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา กล่าวเพิ่มเติมว่าในปัจจุบันมลพิษจากขยะพลาสติกกำลังทวีความรุนแรงเข้าขั้นวิกฤติทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกโดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 นี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายๆด้าน ตั้งแต่แหล่งน้ำในมหาสมุทรไปจนถึงน้ำที่ใช้บริโภค นำไปสู่ปัญหาสุขภาพของคนในระยะยาว รวมไปถึงเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติในวงกว้าง ซึ่งการกำจัดขยะพลาสติกด้วยวิธีการฝังกลบแบบเดิมนั้น ๆ อาจไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทางคอร์สแอร์ กรุ๊ป จึงมุ่งมั่นพัฒนาโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ผ่านการใช้เทคโนโลยีไพโรไลซิส (Pyrolysis technologies) เพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมันชีวภาพขั้นสูง (Advanced Bio-oil) ซึ่งมีคุณสมบัติเทียบเท่าน้ำมันดิบ (Crude Oil Equivalent: COE) และสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเบนซินและดีเซล และสิ่งสำคัญคือสามารถนำไปแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชิ้นใหม่ได้

“นอกจากนี้เมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมา คอร์สแอร์ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลวังน้ำเย็น สร้างโรงงานคัดแยก และลำเลียงขยะเหล่านั้นมาเปลี่ยนเป็นน้ำมันที่โรงงานรีไซเคิลทางเคมีในกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันมีเนื้อที่กว่า 4 ไร่ และในอนาคตอันใกล้จะเพิ่มเป็น 12 ไร่ นอกจากนี้ยังมีแผนการเพิ่มเครื่องจักรผลิตน้ำมันให้ได้ถึง 300,000 ลิตรต่อเดือน จากปัจจุบันที่ 180,000 ลิตรต่อเดือน โดยเราตั้งเป้าว่าภายในปี 2022 จะสามารถผลิตน้ำมันจากขยะ 2 ล้านกิโลกรัมให้เป็นน้ำมันได้ราว 1 ล้านลิตรต่อเดือน คอร์สแอร์พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชนในการเร่งผลักดันการลดปริมาณขยะพลาสติกที่ถือเป็นขยะอันตรายอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำขยะเหล่านี้ไปแปรสภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ อีกทั้งร่วมกันพัฒนา แก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต” ยูสซี กล่าวสรุป

Stay Connected
Latest News