กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย ประกาศปรับดีไซน์บรรจุภัณฑ์ใหม่ภายใต้แนวคิด “Recycle Me” ซึ่งเป็นการใช้ข้อความ “โปรดรีไซเคิล” บนบรรจุภัณฑ์เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคร่วมด้วยช่วยกันในการแยกบรรจุภัณฑ์ออกจากขยะอื่นๆ และนำกลับมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุด โดยการปรับเปลี่ยนนี้จะนำมาใช้กับบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มน้ำอัดลมทุกแบรนด์ในประเทศไทยภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งจะเป็นแนวทางเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากการปรับดีไซน์แล้ว โคคา-โคล่ายังสนับสนุนของรางวัลให้แก่สตาร์ทอัปเพื่อสิ่งแวดล้อม Trash Lucky ในแคมเปญ
“โค้กชวนแยก แลกลุ้นโชคกับ Trash Lucky” รณรงค์สร้างพฤติกรรมแยกขยะที่ต้นทางเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและลุ้นรับของรางวัลรวมมูลค่ากว่า 900,000 บาท พร้อมร่วมมือกับอินโดรามา เวนเจอร์ส มอบชุด PPE ที่ผลิตจากเส้นด้าย PET รีไซเคิลจากขวด PET ที่รวบรวมได้จากแคมเปญ จำนวน 1,500 ชุดให้แก่บุคลากรด่านหน้า
การเปิดตัวดีไซน์บรรจุภัณฑ์ใหม่ภายใต้แนวคิด “Recycle Me” เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ World Without Waste ของโคคา-โคล่า ซึ่งมุ่งใช้และจัดการบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มอย่างรับผิดชอบ โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักคือการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อนำกลับมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อนปี 2573 ซึ่งแม้บรรจุภัณฑ์ของโคคา-โคล่าในประเทศไทยจะใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมา รีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ไม่ถูกนำมารีไซเคิลก็คือ การขาดการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งทำให้บรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้วสกปรกจากการถูกทิ้งปะปนกับขยะประเภทอื่น ๆ และไม่ถูกนำกลับมารีไซเคิล ทั้งที่ความจริงแล้ววัสดุอย่างพลาสติก PET ที่ใช้ผลิตขวดเครื่องดื่ม
นอกจากสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ใช้งานได้หลากหลายแม้กระทั่งชุด PPE และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้ นอกจากการกระตุ้นเตือนผ่านทางบรรจุภัณฑ์แล้ว โคคา-โคล่ายังได้สนับสนุนของรางวัลให้แก่ Trash Lucky ในแคมเปญ “โค้กชวนแยก แลกลุ้นโชคกับ Trash Lucky” เชิญชวนให้คนไทยเริ่มแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและนำส่งบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้วโดยไม่จำกัดแบรนด์ ตลอดจนวัสดุรีไซเคิลอื่น ๆ เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและร่วมสนุกลุ้นรับของรางวัลไปพร้อมกัน
นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โคคา-โคล่า เชื่อว่าบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้วไม่จำเป็นต้องกลายเป็นขยะ หากได้รับการจัดการที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เราตระหนักดีว่าการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนหันมาช่วยกันแยกขยะและรีไซเคิลผ่านข้อความบนบรรจุภัณฑ์สามารถช่วยสร้างการรับรู้ในหมู่ผู้บริโภคได้ระดับหนึ่ง แต่เราจะต้องผลักดันให้การรับรู้นี้พัฒนาไปสู่การปรับพฤติกรรมในระยะยาวด้วย ฉะนั้นเราจึงตัดสินใจร่วมมือกับพันธมิตรสตาร์ทอัปอย่าง Trash Lucky ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันและมีประสบการณ์ในการทำงานเรื่องนี้มานาน
โดยแคมเปญ ‘โค้กชวนแยก แลกลุ้นโชคกับ Trash Lucky’ จะมีระยะเวลารวม 3 เดือน ซึ่งมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สามารถปรับเปลี่ยนให้กิจกรรมหนึ่งที่บุคคลทำอยู่เป็นการชั่วคราวกลายเป็นพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำได้ โดยแคมเปญนี้ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะการส่งบรรจุภัณฑ์ของเรามาร่วมสนุกเท่านั้น แต่จะครอบคลุมถึงบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์อื่น ๆ และวัสดุรีไซเคิลที่ Trash Lucky สามารถช่วยนำส่งเข้าสู่การรีไซเคิลได้อีกด้วย”
ส่วน ณัฐภัค อติชาตการ ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แทรชลัคกี้ จำกัด กล่าวว่า “ภารกิจสำคัญของ Trash Lucky คือการปลูกจิตสำนึกให้ผู้คนหันมารีไซเคิลขยะให้ได้มากที่สุดผ่านการสร้างแรงจูงใจเพื่อลดปริมาณขยะ ภายใต้แคมเปญนี้ นอกเหนือจากการร่วมสนุกลุ้นรับของรางวัลแล้ว โคคา-โคล่าและ Trash Lucky จะร่วมมือกันจัดกิจกรรมที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประเภทขยะ วิธีการแยก และประโยชน์ของการรีไซเคิล ไปจนถึงปัญหาขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงจัดทำการศึกษากับผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งก่อนและหลังแคมเปญเพื่อเป็นการวัดผลและเป็นแนวทางในการปรับพฤติกรรมอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสูงสุดร่วมกันคือเปลี่ยนการแยกขยะเพียงเพื่อลุ้นของรางวัล ให้เป็นพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้ได้”
ด้าน ยาช โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่เรามีต่อชุมชนคือ การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว เราพัฒนาเส้นด้ายจากการรีไซเคิลขวด PET ที่เหมาะสำหรับผลิตชุด PPE ได้สำเร็จ เป้าหมายของเราคือการปกป้องบุคลากรด่านหน้าด้วยแนวทางที่ยั่งยืน เส้นด้ายจากขวด PET รีไซเคิลนี้เป็นวัสดุที่ถูกสุขอนามัยและมีความยั่งยืน ความร่วมมือระหว่างโคคา-โคล่าและ Trash Lucky จะช่วยเสริมสร้างการรับรู้ต่อการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง และก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่แท้จริงอีกด้วย”
ซึ่งแม้ว่าแคมเปญนี้จะจบลงในเวลา 3 เดือน แต่ผู้เข้าร่วมยังสามารถนำส่งบรรจุภัณฑ์และวัสดุรีไซเคิลอื่น ๆ ให้กับร้านรับซื้อและจุดรับวัสดุรีไซเคิลตามที่ต่าง ๆ ที่มีมากมายในปัจจุบัน และเราเองก็จะได้นำข้อมูลด้านการสร้างพฤติกรรมที่ทาง Trash Lucky ศึกษา ไปวิเคราะห์และวางแผนในการดำเนินกิจกรรมและโครงการด้านนี้ต่อไปในอนาคตด้วย” นันทิวัต กล่าวสรุป