**กระแสของโลกร้อนกลายเป็นเรื่องที่คนทั้งโลกต้องหันมาให้ความสนใจ เมื่อก่อนอาจจะคิดว่าเรื่องโลกร้อนไกลตัว แต่ตอนนี้ผลต่อกระทบสิ่งแวดล้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านลบต่อชีวิตของมนุษย์
**คำว่า Carbon Credit , Carbon Footprint จึงเริ่มมีคนเอ่ยถึงมากขึ้น มันคืออะไร??? สำคัญอย่างไร??? โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจในอนาคตจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับศัพท์คำนี้แล้ว
** อีกคนหนึ่งคำที่จะมาอธิบายเรื่องนี้ชัดเจน คือ วราวุธ ศิลปะอาชา เจ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะมาให้ความกระจ่างเรื่อง Carbon Credit ในแง่การค้าที่ไม่ว่าจะซื้อหรือขายก็ win win ทั้งคู่
ปี 2021 เป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่นานาประเทศร่วมมือกันขับเคลื่อนโลกไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งทุกประเทศ ทุกเมือง รวมถึงองค์กรธุรกิจ จะต้องจัดทำและดำเนินตามแผนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือตั้งเป้าหมายให้ก๊าซคาร์บอนเท่ากับศูนย์ภายในปี 2050 เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 – 2 องศาเซลเซียส ครับ
ซึ่งหนึ่งในกลไกที่จะเข้ามามีบทบาท ในการลดปริมาณคาร์บอน จากภาคธุรกิจทั่วโลกก็คือ การคำนวน Carbon Credit จากภาคการผลิต ในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานของอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ว่ามีเพดานอยู่ที่เท่าไหร่
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ดังนี้ครับ
บริษัท A ผลิตสินค้า โดยสร้าง คาร์บอนฟุตปรินท์ทั้งกระบวนการ อยู่ที่ 100 หน่วย
ค่ามาตรฐาน คาร์บอนฟุตปรินท์ ของประเภทสินค้า A ที่กำหนดโดยรัฐบาล อยู่ที่ 70 หน่วย
= บริษัท A มีค่าคาร์บอนเครดิต -30 หน่วย
ค่าคาร์บอนเครดิต ที่ติดลบ 30 หน่วยนี้ อาจส่งผลให้
1. บริษัท A ต้องจ่ายภาษีด้านสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น
2. บริษัท A อาจไม่สามารถส่งออกสินค้า ไปยังประเทศที่มีมาตรการกีดกันสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม
ทางออกของบริษัท A ที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงได้แก่
1. ลงทุนปรับปรุงคุณภาพ ขั้นตอน เทคโนโลยีการผลิต ให้ผลิตคาร์บอน น้อยลง
2. เพิ่มศักยภาพ ภาคดูดซับคาร์บอน เช่น ปลูกสวนป่าในพื้นที่ของบริษัท A
3. ซื้อคาร์บอนเครดิต จากตลาดการค้าคาร์บอน
ทางออกที่ไวที่สุด ก็คือข้อ 3 นี่ล่ะครับ ที่บริษัท A ต้องใช้เงินแก้ปัญหา โดยการซื้อ Carbon Credit มาชดเชยให้สินค้าของตนเอง ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่นำมาจำหน่ายนี้ ก็จะได้มาจากบริษัทอื่นๆ ที่สามารถควบคุมปริมาณคาร์บอนของตนเองให้ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด จนมีค่า Carbon Credit คงเหลือ สามารถนำมาขายต่อในตลาดได้ ยกตัวอย่าง เช่น TESLA ซึ่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนมีจำนวน Carbon Credit คงเหลือมหาศาล ก็สามารถนำ Carbon Credit ของตัวเองมาขาย จนสร้างรายได้ไปถึง 3,300 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็นเงินไทย ราวๆ 1 แสนล้านบาทเลยครับ
ซึ่งโอกาสในตลาดการค้าคาร์บอนเครดิต จะไม่ตกอยู่กับแค่ กลุ่มทุนใดกลุ่มหนึ่ง ที่มีเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายโอกาสในการสร้างรายได้ไปยัง พี่น้องประชาชนในชนบท ผ่านเครือข่ายป่าชุมชนทั่วประเทศ ที่ปลูกต้นไม้ขยายพื้นที่ป่ากันอยู่แล้วด้วย ฉะนั้น ต่อไปในอนาคต การปลูกและรักษาต้นไม้เอาไว้ มีแนวโน้มที่จะสร้างรายได้และประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมให้พี่น้องคนไทย ได้มากกว่าการตัดครับ
ตลาดการค้า Carbon Credit ประเทศไทย อยู่ตรงไหนในโลก
วันนี้ผมจะพูดถึงต่างประเทศครับ ว่ามีที่ไหนในโลกที่มีการใช้ตลาดการค้าคาร์บอนเครดิตกันไปแล้วบ้าง เพราะในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบ บนเวทีการค้าโลก เนื่องจากชาติมหาอำนาจหลายประเทศ เริ่มสร้างเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมกับประเทศคู่ค้ามากขึ้น ด้วยมาตรการกีดกันทางการค้ากับประเทศคู่ค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซต์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ หรือก๊าซอื่นๆที่เกี่ยวข้อง) เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยมี “คาร์บอนเครดิต” เป็นมาตรวัด
ปัจจุบัน “ตลาดคาร์บอนเครดิต” แบ่งออกได้ 2 กลุ่ม ได้แก่
– “กลุ่มตลาดทางการ” จัดตั้งขึ้น และมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการซื้อขายคาร์บอน เช่น ญี่ปุ่น เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ.2556 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (เยอรมัน ฝรั่งเศส ฯลฯ) เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2561
– “กลุ่มตลาดสมัครใจ” จัดตั้งขึ้นตามความร่วมมือมือของหน่วยงานหรือองค์กรสนับสนุนให้มีการซื้อขายคาร์บอนแบบสมัครใจ เช่น สหรัฐอเมริกา เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2555 และ ไทย เริ่มต้นใช้ในปี 2564 นี้ครับ
ซึ่งในขณะนี้ อัตราการคำนวนคาร์บอนเครดิต ของแต่ละประเทศ กำลังอยู่ในระหว่าง หาข้อตกลงร่วมกัน เพื่อหาค่ามาตรฐานที่สามารถใช้ร่วมกันได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งต่อไป ตลาดคาร์บอนเครดิต ก็จะมีกลไกการทำงานคล้ายคลึง กับตลาดหุ้นที่ค้าสกุลเงินต่างๆอยู่ในขณะนี้ครับ
จากรายงานของธนาคารโลก ได้ระบุว่าการซื้อขายคาร์บอนในตลาดโลก เมื่อปี พ.ศ.2562 มีมูลค่าสูงถึง 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐ พุ่งสูงขึ้นถึง 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี จากปีพ.ศ.2559 ที่มีมูลค่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับ ประเทศไทย เรามีหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิตโดยตรง คือ “องค์การบริหารจัดก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.” เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลคาร์บอนเครดิต สนับสนุนข้อมูลวิชาการ รับรองการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ประสานงานองค์การในประเทศและต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตครับ
ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการก่อตั้งกลุ่ม Carbon Markets Club ซึ่งมีองค์การบริหารจัดก๊าซเรือนกระจก ช่วยสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีการซื้อขาย คาร์บอน จำนวน 2,564 ตันคาร์บอนคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 1,491 ไร่ ซึ่งเงินที่ได้จากการขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการนี้ จะนำไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมต่อไปครับ
ข้อมูล เพจTOP Varawut