Augustenborg เมืองที่เคยเจอปัญหาน้ำท่วม 20 ปี สู่เมืองต้นแบบ Eco-City อย่างยั่งยืน

ปัญหาน้ำท่วมนับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่เมืองใหญ่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเมืองที่มีระบบการจัดการการระบายน้ำที่ไม่ดี ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื้อรังอื่นๆตามมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การแก้ปัญหาน้ำท่วมเพื่อให้กิจกรรมอื่นๆสามารถดำเนินได้แม้กระทั่งช่วงที่ฝนตกหนักจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่เมืองนั้นๆต้องคำนึงถึง

เมือง Augustenborg ในเขตพื้นที่ Malmö ประเทศสวีเดน เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาน้ำท่วม ทางเทศบาล Malmö จึงเล็งเห็นความสำคัญในการจัดการและแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากฝนตกหนักโดยนำประสบการณ์ที่สั่งสมตลอดระยะเวลา 20 ปี มาใช้ในการหาวิธีแก้ปัญหา จนนำไปสู่การสร้างเมืองในรูปโฉมใหม่ที่มุ่งเน้นการเป็น Eco-City ที่มาพร้อมกับความยั่งยืนด้านต่างๆ โดยโครงการเปลี่ยนโฉมเมือง Augustenborg เป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมมือของหลายบริษัท เช่น บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการเคหะอย่าง MKB และ จังหวัด Malmö

นอกจากการจัดการปัญหาน้ำที่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จแล้ว โครงการดังกล่าวยังฟื้นฟูในส่วนอื่นๆควบคู่กันไป เช่น การปรับปรุงที่อยู่อาศัย การจัดการขยะที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงโครงการเพื่อสังคมอื่นๆ ที่เป็นไปตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยในเมืองแห่งนี้

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ระบบน้ำที่มีประสิทธิภาพขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการเปลี่ยนไปใช้ระบบน้ำฝนแบบเปิด (open stormwater system) ที่มีท่อและบ่อน้ำที่รวบรวมและทำความสะอาดน้ำฝนแทนท่อใต้ดิน โดยมีเป้าหมายในการจัดการหรือชะลอความเร็วน้ำฝนของเมือง Augustenborg ให้ได้ 70% ด้วยระบบใหม่นี้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เทศบาล Malmö ไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดจากฝนตกหนักในปี 2014 แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างสวนพฤกษชาติ (Botanical roof garden) ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนดาดฟ้าอาคารของ Scandinavian Green Roof Institute ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นสวนสาธิตและวิจัยด้านพันธุ์พืช ดินที่ได้รับการปรับปรุงด้านวิศวกรรม และการไหลผ่านของน้ำ โดยมุ่งเน้นไปที่ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพและการจัดทำสวนบนหลังคา (Green roof) ในประเทศสวีเดน

และเพื่อให้สอดรับกับวัตถุประสงค์ของการเป็น “Eco-City” เมือง Augustenborg ยังได้พัฒนาอาคารที่พักอาศัยที่เขียวขจีไปด้วยพันธุ์พืชต่างๆเสมือนเป็นเรือนเพาะชำ โดยเป้าหมายของการออกแบบอาคารที่พักอาศัยลักษณะนี้ก็เพื่อลดฟุ้ตพริ้นท์ด้านระบบนิเวศน์ของผู้พักอาศัย ทั้งนี้ อาคารที่พักอาศัยดังกล่าวมีทั้งหมด 56 อาคาร มีความสูง 14 ชั้น โดยแต่ละอาคารประกอบไปด้วย เรือนเพาะชำบนดาดฟ้าที่ผู้พักอาศัยสามารถใช้ร่วมกัน ระเบียงที่มีพื้นที่พิเศษสำหรับเตรียมดินเพาะปลูก และ เซลพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเมือง Augustenborg ในอดีต เป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปัจจุบันเมืองแห่งนี้นับว่าเป็นเมืองที่ได้รับความสนใจจากสายตาคนภายนอก และยังเป็นเมืองตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนอีกด้วย

 

Credit:
https://smartcitysweden.com/best-practice/329/eco-city-augustenborg-creating-an-attractive-and-resilient-district/
https://www.oneplanetnetwork.org/initiative/greenhouse-augustenborg
https://www.greenroofs.com/projects/augustenborg-botanical-roof-garden/
Photo :
https://inhabitat.com/augustenborg-botanical-garden-is-a-red-yellow-and-green-roof-bursting-with-color/austenborg-botanical-garden-5/

Stay Connected
Latest News