โรชปูพรมชุดตรวจโควิดแบบ Home Use ประเดิมล็อตแรก 3 ล้านเทสต์ต้นส.ค.นี้

หลังได้รับอนุมัติชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเองแบบโฮมยูสจาก อย.เมื่อ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา โรช พร้อมกระจายสินค้าล็อตแรกจำนวน 6 แสนกล่อง หรือ 3 ล้านชุดตรวจ ภายในสัปดาห์หน้า โดยจะมีวางจำหน่ายตามร้านขายยา และสถานพยาบาลอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาต แนะอย่ากักตุนเพราะสินค้าทยอยส่งเข้ามาเมืองไทยทุก ๆ 3 วัน

บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ชุดตรวจโควิด 19 ด้วยตัวเองแบบโฮมยูส (Home Use) ถือเป็นชุดตรวจรุ่นแรกๆ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ตรวจหาเชื้อได้ด้วยตนเองได้ที่บ้าน และได้รับมาตรฐาน ซีอี มาร์ค (CE Mark) หรือมาตรฐานความปลอดภัยยุโรปมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ในขณะที่ชุดตรวจโควิด 19 แบบที่สำหรับใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ (Professional Use) นั้นได้รับการอนุมัติ ซีอี มาร์ค (CE Mark) ในเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และมีการใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศในยุโรป ภายใต้การอนุมัติ และการดูแลของประเทศนั้นๆ มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา

รู้จักชุดตรวจโฮมยูส

สำหรับชุดตรวจโควิด 19 ด้วยตัวเองแบบโฮมยูส (Home Use) นั้น ผู้ใช้งานสามารถทำการตรวจหาเชื้อได้เองโดยการใช้ก้านสวอบ (swab) แหย่เข้าไปในโพรงจมูก (ลึก 2 เซนติเมตร) ซึ่งไม่ซับซ้อน และไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ก็สามารถทำการตรวจหาเชื้อเองได้ โดยสามารถทราบผลการตรวจเชื้อได้ภายใน 15-30 นาที ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ตรวจมีอายุน้อยกว่า 18 ปี นั้น จำเป็นต้องให้ผู้ใหญ่เป็นผู้ทำการตรวจให้ หรือต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่

คำถามที่หลายคนข้องใจว่าชุดตรวจโควิดด้วยตัวเองแบบโฮมยูสแตกต่างอย่างไรกับชุดตรวจแรพิด แอนติเจน เทสต์ (Professional Use) ซึ่งใช้ตามโรงพยาบาลต่ากันอย่างไร สมจิตร์ จินาภักดิ์ เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า

สมจิตร์ จินาภักดิ์ เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์

“สิ่งแรกคือก้านสำลีที่ชุดโฮมยูสจะสั้นกว่าแบบของ Professional Use ทั้งนี้เพื่อลดอันตรายในขณะใช้สำลีสอดเข้าไปในโพรงจมูกเพื่อเก็บตัวอย่างของโปรตีน ซึ่งต้องใช้บุคลากรทางแพทย์ผู้ชำนาญทำ เพราะเคยมีเคสต่างประเทศใช้สำลียาวสอดเข้าไปจนถึงโพรงสมองซึ่งอันตรายมากอาจติดเชื้อได้ หรือบางเคสสอดให้เด็กไม่ถูกวิธีหักคาในโพรงจมูกทำให้เด็กเสียชีวิต ดังนั้นชุดโฮมยูสจึงออกแบบสำลีก้านสั้นกว่า ส่วนตัวน้ำยาทดสอบเหมือนกันทุกอย่าง วิธีการอ่านค่าเหมือนกัน อาจต่างตรงที่ความไว เนื่องจากวิธีการเก็บโปรตีนของ Professional Use เก็บได้มากกว่าจึงอ่านค่าได้เร็วกว่า”

ขณะที่พิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า
“ คุณภาพของการตรวจขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ ประการแรก การจัดเก็บน้ำยาอย่างมีคุณภาพ ประการที่สอง คือคุณภาพของการเก็บตัวอย่างตรวจซึ่งต้องตรงตามคำแนะนำของคู่มือ ถ้าทำไม่ถูกต้อง อาจจะทำให้ตัวอย่างด้อยคุณภาพและผลที่ออกมาอาจผิดพลาดได้”

และเมื่อเทียบประสิทธิภาพการตรวจแบบ Rapid Antigen Test กับ RT -PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) ต่างกันอย่างไร สมจิตร์ จินาภักดิ์ กล่าวว่า การตรวจทั้ง 2 แบบมีเป้าหมายคือตรวจตัวเชื้อเหมือนกัน แต่การตรวจ RT- PCR จะเร็วกว่าเพราะเป็นการตรวจในแลบที่มีประสิทธิภาพในการตรวจดีกว่า ขนาดว่าไปสัมผัสผู้ติดเชื้อมาเพียงวันเดียวถ้าใช้การตรวจแบบ RT-PCR ก็มีโอกาสพบเชื้อได้ง่ายกว่า จณะที่การตรวจแบบ Rapid Antigen Test ต้องรอสัมผัสผู้ติดเชื้อไปแล้ว 3-5 วันจึงจะพบเชื้อ

อย่างไรก็ตามสมจิตร์ได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ตัดสินใจใช้ชุดตรวจแบบโฮมยูสว่า “ถ้าเราเป็นกลุ่มเสี่ยงควรตรวจด้วยชุด Home Use ซึ่งถ้าพบว่ามีเชื้อโควิดแต่ไม่มีอาการไข้-ไอ-หวัด หรือประเมินอาการอยู่ในระดับสีเขียวให้แจ้งคุณหมอเพื่อใช้วิธี Home isolation คือกักตัวที่บ้านและทางแพทย์ติดตามอาการ ภายใน 14วัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หลังครบ 14 วันก็กลับเข้ามาตรวจแบบHome Use เพื่อตรวจเชื้ออีกครั้ง ถ้าไม่พบก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้”

 

ที่สำคัญหลังจากการใช้ชุดตรวจโฮมยูสเสร็จแล้วเพื่อป้องการการแพร่ระบาดของเชื้อ ควรจะนำชุดตรวจที่ใช้แล้วทั้งหมดใส่ในซองแล้วเทน้ำยาล้างจานลงไปเพื่อฆ่าเชื้อโควิด จากนั้นปิดปากถุงให้แน่นสนิท นำไปทิ้งในถังขยะแดงสำหรับทิ้งขยะอันตราย ถ้าไม่มีควรเขียนกำกับหน้าถุงว่าเป็นขยะติดเชื้อเพื่อsave คนเก็บขยะไม่ให้ติดเชื้อด้วย

พร้อมวางจำหน่ายต้นส.ค.นี้

สอดคล้องกับสถานการณ์นโยบายด้านสุขภาพในหลายประเทศ ที่ปัจจุบันเริ่มผ่อนปรน และกลับมาเปิดดำเนินกิจกรรมต่างๆ ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง จึงมีประโยชน์อย่างมากในการวางแผนการเข้าร่วม และจัดกิจกรรมต่างๆ โดยสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทั้งยังเป็นข้อมูลให้ผู้ที่ตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อ หรือมีแนวโน้มว่าน่าจะติดเชื้อสามารถดำเนินการกักตัว เพื่อลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดได้

พิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด

“ขณะนี้ ทั่วโลกกำลังเตรียมการเปิดประเทศ ชุดตรวจหาเชื้อที่บ้านที่มีมาตรฐานสูงจะมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดนี้ การตรวจหาการติดเชื้อโควิดด้วยตัวเองที่บ้านอย่างสม่ำเสมอจะสามารถช่วยลดความตึงเครียดในระบบสาธารณสุขได้ เพราะจะสามารถช่วยบอกได้ว่าใครมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ จะได้สามารถดำเนินการเข้าสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที เป็นทั้งการจัดการตัวเองและป้องกันผู้อื่นด้วย” โทมัส ชิเน็คเกอร์ ประธานเจ้าหน้าทีบริหาร บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ จำกัด กล่าว

ด้านพิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทฯ ได้รับการอนุมัติการขึ้นทะเบียน ชุดตรวจโควิด 19 ด้วยตัวเองแบบโฮมยูส (Home Use) จาก อย. ไทยแล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มจัดจำหน่ายในประเทศในร้านขายยาและสถานพยาบาล ได้ราวต้นเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังมีชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดแบบแรพิด แอนติเจน เทสต์ (Professional Use) ซึ่งผ่านการขึ้นทะเบียน อย. ภายในประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 แล้วเช่นกัน และอนุญาตให้ใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพ และบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น

สำหรับราคาขายนั้นคาดว่าตามร้านขายยาที่มีเภสัชกร จะขายในราคาชุดละ ประมาณ 340 บาท และพิเชษฐพงษ์ให้ความมั่นใจว่าสินค้าจะไม่ขาดตลาดเนื่องจากมีการนำเข้าจากอเมริกาทุก ๆ 3วันโดยเครื่องบิน ซึ่งล็อตแรกจะพร้อมจำหน่ายต้นเดือนสิงหาคมนี้ จำนวน 6 แสนกล่อง หรือ 3 ล้านชุดตรวจ

“เราหวังว่า ชุดตรวจโควิด 19 ด้วยตัวเองแบบโฮมยูส (Home Use) และชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดแบบ แรพิด แอนติเจน เทสต์ (Professional Use) ของโรช จะสามารถช่วยบรรเทาภาวะวิกฤติที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่พบว่ามีผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวเป็นจำนวนมากได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเร่งตรวจเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ และไม่สามารถทำการทดสอบในห้องแล็บได้เนื่องจากต้องทำการตรวจประชาชนจำนวนมาก ชุดตรวจนี้ซึ่งสามารถรายงานผลได้ภายใน 15-30 นาที จะช่วยทำให้เกิดการคล่องตัว เป็นประโยชน์ต่อประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และประเทศชาติต่อไป”

อย่างไรก็ตาม นอกจากใช้ชุดตรวจหาการติดเชื้อโควิด 19 ของโรชแล้ว การปฏิบัติตัวตามขั้นตอนป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัดยังจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ ซาร์ส-โควี-ทู ดังนั้น จึงควรสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และหมั่นรักษาความสะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการ หรือสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัส

Stay Connected
Latest News