HIGHLIGHT :
• ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 3) : แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย รวมถึงมาตรการในด้านต่างๆ ทั้ง 15 มาตรการ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ.2573 ซึ่งภาคธุรกิจควรได้รับทราบจะได้สามารถวางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องไปได้อย่างเหมาะสม
ในตอนนี้จะเริ่ม Share ให้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับ Roadmap ของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งภาคธุรกิจควรได้รับทราบจะได้สามารถวางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องไปได้อย่างเหมาะสม
1. แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เปิดเผยใน mitigation.onep.go.th ได้สรุปไว้ว่า จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ได้ระบุให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทยได้รับการจัดลำดับจากองค์กร Germanwatch ให้เป็นหนึ่งในสิบประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ในขณะเดียวกันในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและมีการเติบโตของพื้นที่เมืองอย่างต่อเนื่อง จึงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2543 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ไม่รวมภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้) คิดเป็น 226.09 ล้านต้นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเพิ่มเป็น 318.66 ล้านต้นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2556
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงส่งผลให้เกิดความร่วมมือของประชาคมโลกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) กำหนดให้ทุกประเทศเสนอเป้าหมายและความก้าวหน้าของการดำเนินงานภายในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นระยะ ทั้งนี้ ความตกลงดังกล่าวมีผลดีในการสร้างกลไกให้เกิดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยเฉพาะจากประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป 28 ประเทศ และอินเดีย เป็นต้น ทั้งนี้การลดความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวต้องอาศัยความร่วมมือกันของประชาคมโลก ไม่สามารถดำเนินการโดยประเทศหนึ่งประเทศใดได้ ดังนั้นการมีส่วนร่วมของประเทศไทยภายใต้ความตกลงปารีสนี้จึงมีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องเร่งเตรียมความพร้อมในการดำเนินการสร้างศักยภาพในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน
สำหรับการดำเนินงานของประเทศไทย นับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เมื่อปี พ.ศ. 2537 ประเทศไทยได้ดำเนินการร่วมกับนานาประเทศในการรักษาระดับความความเข้มข้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ประเทศไทยได้จัดส่งข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี พ.ศ. 2563 (Intended Nationally Contribution : INDC) ไปยังสำนักงานเลขาธิการ UNFCC โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยภายหลังปี พ.ศ.2563 ที่ร้อยละ 20-25 จากกรณีปกติ
ต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 เห็นชอบให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นนโยบายสำคัญของประเทศ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2559 โดยให้สำนักงบประมาณและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) ซึ่งระบุแนวทางและมาตรการในรายละเอียดเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้ตั้งไว้ หรือเรียกแผนนี้ว่า NDC Roadmap on Mitigation 2021-2030
ในการดำเนินการเพื่อเป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ.2573 นั้น คณะทำงานจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ยกร่างแผนที่นำทางแยกตามรายสาขาด้วย เช่น สาขาพลังงานและขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย เป็นสาขาที่เป็นแผนหลักของหน่วยงานที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการดำเนินงานที่สามารถสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกได้ คิดเป็นศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก ณ ปี พ.ศ.2573 รวมทั้งสิ้น 115.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าหรือร้อยละ 20 จากกรณีปกติ
โดยมาตรการตามแผนงานที่จะส่งผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วยมาตรการในสาขาพลังงานและขนส่ง 9 มาตรการ มาตรการในสาขาการจัดการของเสีย 4 มาตรการ และมาตรการในกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 2 มาตรการ รวมทั้งสิ้น 15 มาตรการ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดผู้รับผิดชอบหลัก ผู้สนับสนุนและกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินมาตรการ
2. มาตรการในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (พ.ศ.2564-2573)
เป้าหมายการลด ศักยภาพรวม ณ ปี พ.ศ. 2573 เท่ากับ 115.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
มาตรการในสาขาพลังงานและขนส่ง
เป้าหมายการลดของสาขาพลังงานและขนส่ง
ศักยภาพรวม ณ ปี พ.ศ. 2573 เท่ากับ 113 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
มาตรการในสาขาพลังงานและขนส่ง ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
มาตรการด้านการผลิตไฟฟ้า 6
1) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานจลไฟฟ้า 6
2) มาตรการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานทดแทน 18
มาตรการด้านการใช้พลังงานในครัวเรือน
3) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในครัวเรือน 4
4) มาตรการผลิตไฟฟ้ามาจากทดแทนในครัวเรือน
มาตรการใช้พลังงานในอาคารเชิงพาณิชย์ (รวมอาคารรัฐ)
5) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร 1
มาตรการด้านการใช้พลังงานในอุตสาหกรรม
6) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอุตสาหกรรม 11
7) มาตรการใช้พลังงานทดแทนในอุตสาหกรรม 32
มาตรการด้านการคมนาคมขนส่ง
8) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการคมนาคมขนส่ง 31
9) มาตรการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับยานพาหนะ 10
มาตรการในสาขาการจัดการของเสีย
เป้าหมายการลดของสาขาการจัดการของเสีย
ศักยภาพรวม ณ ปี พ.ศ. 2573 เท่ากับ 2.0 ล้านต้นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
มาตรการในสาขาการจัดการของเสีย ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
มาตรการด้านการจัดการขยะ
10) มาตรการลดปริมาณขยะ 1.3
มาตรการด้านการจัดการน้ำเสีย
11) มาตรการเพิ่มการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียอุตสาหกรรมด้วยการ
นำก๊าซมีเทนกลับมาใช้ประโยชน์ 0.7
12) มาตรการจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรมอื่นๆ และ
13) มาตรการจัดการน้ำเสียชุมชน
มาตรการในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์
เป้าหมายการลดของสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมฯ
ศักยภาพรวม ณ ปี พ.ศ.2573 เท่ากับ 0.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
มาตรการในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรม ล้านตันคาร์บอน”ดออกไซด์เทียบเท่า
และการใช้ผลิตภัณฑ์
มาตรการด้านการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม
14) มาตรการทดแทนปูนเม็ด 0.3
15) มาตรการทดแทน/ ปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น 0.3
ภาคธุรกิจอาจลองพิจารณาว่าในกระบวนการทำธุรกิจของตนเกี่ยวข้องมากน้อยกับมาตรการใน 3 สาขา แล้วอาจเริ่มจากการสำรวจและประเมินสถานะว่าธุรกิจของเรามีส่วนสร้างก๊าซเรือนกระจกอย่างไรและเท่าใด และถ้าเราร่วมสร้างเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกับภาครัฐให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 จากปัจจุบัน ก็อาจเป็นแนวทางตั้งต้นที่ดีเพื่อลดปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน
________________________________________
เขียนโดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®
รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
credit : https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7764